xs
xsm
sm
md
lg

ฟิลลิปชูกองทุน"Defensive" หนีข่าวลบ"สหรัฐ-ยุโรป"ฉุดหุ้นขาลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เริ่มต้นเดือนใหม่แบบนี้ "ASTVผู้จัดการรายวัน" มีบทวิเคราะห์ดีดีจาก Phillip Fund SuperMart มาฝากกันเช่นเคย...ซึ่งต้องยอมรับว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงเดือนนี้ มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนทั่วโลกทีเดียว

ฟิลลิปวิเคราะห์ว่า การบรรลุข้อตกลงการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ ถือเป็นไปตามที่ตลาดและ Phillip Fund SuperMart คาดไว้ แต่ที่ผิดไปคือ เดิมทีเราคาดว่านักลงทุนน่าจะผ่อนคลายความกังวลและหันกลับเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งน่าจะหนุนตลาดหุ้นให้เป็นบวกได้ระยะหนึ่ง แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามคาด เพราะพร้อมๆกับการอนุมัติเพดานหนี้ กระแสกังวลเกี่ยวกับฐานะทางการคลังของสหรัฐที่อาจกระทบต่อระดับความน่าเชื่อถือของประเทศก็เพิ่มขึ้น และเพียง 2 วันเท่านั้นหลังสภาคองเกรสอนุมัติเพดานก่อหนี้ Standard & Poor’s บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกก็ประกาศปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ 1 ขั้นลงมาที่ AA+ จากระดับสูงสุดที่ AAA พร้อมกับให้แนวโน้มเชิงลบ ซึ่งหมายความว่า สหรัฐมีโอกาสถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลงอีกใน 12-18 เดือนข้างหน้า ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปีที่สหรัฐถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลง และถึงแม้ Moody’s และ Fitch จะยังคงระดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐไว้ที่ระดับสูงสุดเช่นเดิม แต่ด้วยภาพเศรษฐกิจและตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังออกมาน่าผิดหวังอย่างต่อเนื่อง, การปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการระบุถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะถดถอยทั้งในสหรัฐและยุโรปของโบรกเกอร์ชื่อดังหลายแห่ง เช่น Morgan Stanley และ Goldman Sachs ก็ทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นอย่างหนัก

ไม่เพียงแต่สหรัฐ ยุโรปเองก็มีแต่ข่าวเชิงลบออกมาให้ได้ยินกันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น GDP ของเยอรมันที่โตน้อยกว่าคาดในไตรมาส 2 โดยขยายตัวเพียง 0.3% QoQ ต่ำ?กว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 0.7% และไตรมาสแรกที่ 1.3% หรือของสเปนที่โตเพียง 0.7% ในไตรมาส 2 จากที่รัฐบาลเคยประเมินไว้ว่าจะโต 1.3% ในแง่ของปัญหาหนี้ ความกังวลเริ่มลุกลามไปสู่ประเทศยูโรโซนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในกลุ่ม PIIGS อย่างอิตาลีและสเปน รวมไปถึงประเทศนอกกลุ่ม PIIGS อย่าง ฝรั่งเศส ที่ตลาดมีความเห็นว่าอาจจะเป็นประเทศถัดไปที่ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลงจาก AAA ขณะที่ภาคธนาคารในฝรั่งเศสก็ถูกจับตาเช่นกัน เพราะธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งของฝรั่งเศสมีการลงทุนในพันธบัตรกลุ่ม PIIGS ไม่น้อย ทำให้ตลาดเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นถึงสถานะเงินทุนของธนาคารเอกชนในฝรั่งเศส

ข่าวและรายงานเชิงลบเหล่านี้ได้บั่นทอนความมั่นใจของนักลงทุนและทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงตกอยู่ในความโกลาหล โดยเฉพาะตลาดหุ้นในฝั่งตะวันตกที่ร่วงลงหนักในรอบปีไม่ว่าจะเป็น DJIA ของสหรัฐ (-8.10%), FTSE ของอังกฤษ (-11.14%), DAX ของเยอรมัน (-19.70%), CAC-40 ของฝรั่งเศส (-13.10%) (ข้อมูล 1-25 สิงหาคม) จนทำให้หลายประเทศต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการออกมาตรการชั่วคราวเพื่อชะลอการดิ่งลงอย่างหนักของตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และเบลเยี่ยมที่สั่งระงับการทำ Short Sell หุ้นกลุ่มการเงิน ขณะที่ตลาดหุ้นหลายแห่งในเอเชีย รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยราคาน้ำมันในช่วงเวลาเดียวกัน ร่วงลงไปแล้วกว่า -10.03% ตรงข้ามกับทองคำเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง +13.10% โดยจากกราฟที่ 1 จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันและทองคำ

สำหรับการลงทุนในเดือนกันยายน เชื่อว่านักลงทุนจะยังคงให้ความสนใจและระมัดระวังกับสถานการณ์ในฝั่งตะวันตกเป็นหลัก ซึ่งหากมีข่าวดีออกมาเพียงพอที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ ตลาดหุ้นก็น่าจะปรับตัวในเชิงบวก แต่ถ้าไม่ ตลาดก็น่าจะปรับตัวซึมลงต่อไป เเต่ไม่น่าจะปรับตัวลงแรงมากเท่าช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากรับข่าวร้ายไปมากแล้ว ยกเว้นแต่ว่าจะมีข่าวใหม่ในเชิงลบเข้ามากระทบความเชื่อมั่นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี อย่างที่เราได้เคยได้กล่าวไว้ในบทวิเคราะห์ที่ผ่านๆมา ปัญหาในสหรัฐและยุโรปนั้นมีความซับซ้อนและต้องอาศัยเวลาในการแก้ไขปัญหา ในความเห็นของเรา การแก้ปัญหาในฝั่งยุโรปนั้นดูจะมีอุปสรรคมากกว่าสหรัฐ เนื่องจากประเทศในกลุ่มยูโรโซนมีปัญหาและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้การใช้นโยบายการเงินร่วมกันนั้นไม่เหมาะสม เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับเยอรมัน ตัวเลขนี้ดูจะต่ำไปและอาจทำให้เยอรมันมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ แต่ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นที่ดูไม่มากนี้กลับเป็นระดับที่สูงไปสำหรับหลายประเทศในกลุ่ม PIIGS อีกประเด็นหนึ่งก็เป็นเรื่องของค่าเงินยูโร

กล่าวคือ ในขณะที่ภาคการส่งออกของเยอรมันได้รับประโยชน์จากการที่ยูโรอ่อนค่า หลายประเทศที่อ่อนเเอกลับมีปัญหาเพราะยูโรที่อ่อนค่าจะทำให้ภาระหนี้ต่างประเทศมากเพิ่มขึ้น ก็เป็นโจทย์ในระยะยาวสำหรับยูโรโซนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งทางนโยบายดังกล่าวและตราบเท่าที่สหรัฐและยุโรปยังหาทางออกอย่างถาวรไม่ได้ ข่าวลบๆจะทำให้เกิดวิกฤติความเชื่อมั่นได้เป็นระยะๆและจะส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนได้ทุกเมื่อ

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ เราจึงมองว่า การลงทุนในกองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนในหุ้น Defensive น่าจะช่วยป้องกันความเสี่ยงขาลงได้ดี และถึงแม้ทางฝั่งเอเชียและตลาดเกิดใหม่หลายประเทศจะมีความกังวลด้านเงินเฟ้อ แต่ด้วยพื้นฐานของประเทศที่แข็งแกร่ง ฐานะทางการคลังของรัฐบาลที่อยู่ในเกณฑ์ดี จะทำให้ประเทศเหล่านี้มีภูมิต้านทานที่ดี และหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดคือ เศรษฐกิจโลกต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ประเทศเหล่านี้จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าเพราะมีทางเลือกในการปรับใช้นโยบายได้มากกว่า

เราจึงยังคงแนะนำกองทุนของ Aberdeen ได้แก่ ABGEM และ ABAPAC ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ กล่าวคือ Aberdeen มีสไตล์การลงทุนที่ชัดเจน โดยจะเน้นลงทุนในหุ้น Defensive อีกประการคือ theme การลงทุนที่เน้นหุ้น Domestic Play ซึ่งเรามองว่าเป็น theme ที่สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตและนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มเอเชียและตลาดเกิดใหม่ที่พยามที่จะกระตุ้นการบริโภคในประเทศและหนุนในการบริโภคในประเทศเป็นองค์ประกอบหลักของ GDP เพื่อที่จะลดผลกระทบจากการพึ่งพิงการส่งออก เราจึงมองว่าเหมาะแก่การลงทุนในระยะยาว

และสำหรับตราสารหนี้ เราก็ยังคงชื่นชอบทางเอเชียและตลาดเกิดใหม่เช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าฐานะทางการคลังและพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีกว่าจะทำให้ประเทศในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการปรับเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งตรงข้ามกับทางฝั่งตะวันตกรวมถึงญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มถูกปรับลดลง ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภาพที่เราเคยมองไว้ก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นการปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐ และล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ถูก Moody’s ปรับลดความน่าเชื่อถือลง 1 ขั้นมาอยู่ที่ Aa3 จาก Aa2 หลังจากที่ได้ออกคำเตือนถึงภาวะหนี้ระดับสูงและความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น เราจึงยังคงแนะนำให้ทยอยสะสมกองทุน Global Bond Fund ซึ่งกองทุนหลัก Templeton Global Bond Fund ให้น้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกลุ่มประเทศเอเชียและตลาดเกิดใหม่ และมีการลงทุนบางส่วนประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วที่มีฐานะการคลังและเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งในจุดนี้เรามองเป็นข้อดี เพราะต้องยอมรับว่าตลาดพันธบัตรในกลุ่มประเทศเอเชียและตลาดเกิดใหม่ยังมีขนาดเล็กและผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่หลากหลายมากพอจึงทำให้มีข้อจำกัดในการลงทุน การกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ยังมีฐานะดีอยู่จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนและการสร้างผลตอบแทน

ในบ้านเรา ปัจจุบันมีหลายบลจ.ที่นำเสนอกองทุนที่ไปลงทุนยังกองทุนหลักดังกล่าว เริ่มจากกองThanachart Global Bond Fund ของบลจ.ธนชาติ, TMB Global Bond Fund ของ บลจ.ทหารไทย ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบที่มีการจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล รวมถึงกองใหม่ล่าสุดจากบลจ. CIMB-Principle ที่เสนอขายในชื่อ CIMB-Principle Global Bond Fund ทั้งนี้ ด้วยความที่มีการลงทุนในกองแม่กองเดียวกัน ผลการดำเนินงานจากกองทุนหลักจึงแทบไม่มีความต่าง นักลงทุนจึงสามารถเลือกลงทุนในกองเหล่านี้ได้ตามความพอใจใน Features อื่นๆที่แต่ละบลจ.นำเสนอ

สำหรับการลงทุนในสินค้าโภคภัฑณ์ เริ่มจากน้ำมัน แม้เห็นแนวโน้มของราคาที่อ่อนแอกว่าช่วงก่อน ทั้งจากภาพเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและจาก supply จากลิเบียที่กำลังจะกลับมา แต่เราเชื่อว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวได้เหนือระดับ 80 US$/bbl ขณะที่โอกาสที่จะหล่นมาต่ำกว่านั้นก็อาจมีบ้างแต่มองว่าจะไม่นานนัก เนื่องจากเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต ดังนั้นการลงทุนหรือเก็งกำไรน้ำมันในช่วงนี้ ก็พอทำได้แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

ในส่วนของทองคำก็ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะยาว แต่ก็ให้ระวังความผันผวนระหว่างทางโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในลักษณะเก็งกำไรระยะสั้น

สำหรับปัจจัยหนุนราคาในระยะยาวก็มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ยังมีทองคำในฐานเงินทุนสำรองน้อยมาก อย่างไรก็ดี การลงทุนในกองทุนน้ำมันและทองคำในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มผันผวนสูง โดยเฉพาะทองคำที่ปรับขึ้นแรงมาก แนะนำให้ติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด...
กำลังโหลดความคิดเห็น