xs
xsm
sm
md
lg

ยูโอบีขายตราสารหนี้ระยะสั้น คาดศก.US-ตลาดเกิดใหม่โตลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ. ยูโอบี เปิดขายกองตราสารหนี้ระยะสั้น "เอฟไอพลัสพลัส 6/15" ด้าน "มอร์แกน สแตนเลย์" ปรับลดตัวเลขการเติบโตของ ศก. สหรัฐฯ ลงในปีนี้ รวมทั้งตลาดเกิดใหม่

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด รายงานว่า กองทุนเปิด ยูโอบี เอฟไอ พลัสพลัส 6/15 ซึ่งจะเปิดเสนอขาย IPO ครั้งแรกและครั้งเดียว ในระหว่างวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2554 นี้ ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ และเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ อายุโครงการประมาณ 6 เดือน

ทั้งนี้ บลจ.ยูโอบี รายงานภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปว่า มอร์แกน สแตนเลย์ ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ของสหรัฐฯลงสู่ 3.9% สำหรับปี 2011 จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.2% และปรับลดตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2012 ลงสู่ 3.8% จากเดิมที่ 4.5%

โดยมอร์แกน สแตนเลย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจสหรัฐและยูโรโซน ใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมทั้งคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำเป็นต้องปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับปัจจุบัน นอกจากนี้ ทางมอร์แกน สแตนเลย์ยังได้คาดการณ์ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 1.5% ในปีนี้ และปีหน้าจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 1.9% สำหรับปีนี้ และ 2.4% สำหรับปีหน้า ในส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่อาจลดลงสู่ 6.4% ในปีนี้ จาก 7.8% ในปี 2010

ขณะที่ ธนาคารโลก เผยดัชนีราคาอาหารของธนาคารโลกพุ่งขึ้น 33% ในเดือนก.ค. จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และทรงตัวใกล้กับระดับสูงสุดของปี 2008 โดยราคาข้าวโพดและน้ำตาลพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสต็อกอาหารที่อยู่ในระดับต่ำได้บ่งชี้ถึงสัญญาณอันตราย โดยประชาชนที่ยากจนที่สุดจะไม่สามารถรับมือได้ โดยนาย โซลิค ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อุปทานโดยรวมเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือนเม.ย. เนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวข้าวสาลีได้มากในสหรัฐฯและยุโรป และผลผลิตข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ แต่สต็อกอาหารโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ "จนน่าวิตก"

ด้านเศรษฐกิจยุโรป เยอรมันเปิดเผยว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ชะลอลงเกินคาดในไตรมาสสอง โดยลดลงสู่ 0.1% จาก 1.3% เมื่อเทียบรายไตรมาส และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.5% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้แสดงถึงภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจของเยอรมัน และตัวเลขดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ได้ว่า ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจหลายตัวอาจจะถูกปรับลดลงต่อไป

ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยถึงการใช้เงินสูงถึง 2.2 หมื่นล้านยูโรในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสกัดกั้นวิกฤตหนี้ยูโรโซนไม่ให้ลุกลามถึงประเทศสเปน และอิตาลี โดยปริมาณการเข้าซื้อดังกล่าว นั้นได้ทำลายสถิติเดิมที่ 1.65 หมื่นล้านยูโร ในเดือนพ.ค. 2010 ที่ธนาคารกลางยุโรปได้ทำการเข้าซื้อพันธบัตรกรีซ ซึ่งการเข้าซื้อดังกล่าว ทำให้มีการคาดการณ์กันในตลาดว่า ธนาคารกลางยุโรปมีความจำเป็นที่จะเข้ามาเคลื่อนไหวในตลาดพันธบัตรต่อไป ในอีกหลายสัปดาห์

นออกจากนี้พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยูโรโซนเติบโตขึ้นเพียง 0.2% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในไตรมาสแรกที่ 0.8% ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว ได้แสดงถึงการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะในเยอรมัน และฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์และกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในระยะยาว และจะเป็นอุปสรรคเพิ่มเติมต่อการแก้ไขวิกฤตหนี้ในยูโรโซน เพราะ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับต่ำจะส่งผลให้รัฐบาลประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากรายได้ด้านภาษีลดลง และรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ทางนักเศรษฐศาสตร์ของยุโรปได้คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะยังคงอ่อนแอต่อไปในไตรมาส 3 โดยเฉพาะประเทศสเปน และโปรตุเกส
กำลังโหลดความคิดเห็น