xs
xsm
sm
md
lg

จับตาทิศทางเศรษฐกิจโลก...ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - จับตาสหรัฐฯ อาจถูดหั่นเครดิต ในอีก 3 เดือน แม้จะผ่านการเพิ่มเพดานหนี้สำเร็จ ขณะที่ ยุโรป อาจตรึงอัตราดอกเบี้ยถึงปีหน้า เพราะสภาพเศรษฐกิจยังอ่อนแอ ขณะที่ ประเทศจีน คาดว่าเศรษฐกิจ Q3 จะโต 9.3% พร้อมชะลอการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ ในเดือนนี้

บรัษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด รายงานภาวะเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ว่า S&P สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศกล่าวว่า สหรัฐฯ มีโอกาสเป็นอย่างมากถึง 50-50 ที่อันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA อาจถูกปรับลงมาในอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากแม้มีการบรรลุข้อตกลงเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการที่มีนัยสำคัญในการลดยอดขาดดุล ซึ่งจะนำไปสู่การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง ถ้ามีการปรับลดของสหรัฐฯ จริง จะทำให้สมาคมการจำนองแห่งชาติของรัฐบาลกลาง (แฟนนี เม), บรรษัทจำนองสินเชื่อบ้านของรัฐบาลกลาง (เฟรดดี แมค), ธนาคารเพื่อสินเชื่อบ้านแห่งรัฐบาลกลาง และ ธนาคารระบบสินเชื่อการเกษตรแห่งรัฐบาลกลางจะถูกปรับลดอันความน่าเชื่อถือ ตามด้วย

โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยว่า จีดีพีขยายตัว 1.3% ในไตรมาส 2 จากตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.8% และมีการปรับลดตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีไตรมาสที่ 3 ลงเหลือ 0.4% จาก 1.9% ขณะที่ดัชนียอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 2.4% สู่ 90.9 ในเดือน มิ.ย. ก่อนหน้านี้ ตัวเลขคาดการณ์นั้นคาดว่าจะมีการปรับตัวลดลง 2.0% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งราคาบ้านทรงตัวในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ และนับเป็นครั้งแรกที่ราคาไม่มีการปรับลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกินคาดสู่ 59.5 ในเดือน ก.ค. จากระดับ 57.6 ในเดือน มิ.ย. จากตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 56.0 ในเดือน มิ.ย.
2.6)

ด้านเศรษฐกิจยุโรป มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะตรึงดอกเบี้ยไปจนถึงปีหน้า ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในยูโรโซนยังคงอ่อนแอแม้ในสัปดาห์ที่แล้วนักการเมืองยูโรโซนจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือกรีซ และยับยั้งวิกฤตหนี้ไม่ให้ลุกลามไปถึงสเปนและอิตาลีได้ แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในตลาดเงินก็ยังคงไม่แน่ใจว่าอีซีบีจะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อไปหรือไม่ ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะที่น่าผิดหวัง ซึ่งจากผลสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้ว อยู่ในระดับที่อ่อนแอเกินคาดและแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนในยูโรโซนแทบไม่มีการขยายตัว ส่วนผลผลิตก็หดตัวลง ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของอีซีบีอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ประเทศอิตาลีเปิดประมูลพันธบัตรในวงเงิน 8 พันล้านยูโร (1.14 หมื่นล้านดอลล่าร์) โดยอัตราผลตอบแทนในการประมูลพันธบัตรอิตาลีประเภท 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ 5.77% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 แม้ว่าอิตาลีจะสามารถขายพันธบัตรในตลาดได้ทั้งหมด แต่อัตราผลตอบแทนนั้นเริ่มที่จะแสดงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ซึ่งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลี ทำให้นักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่า อิตาลีจะสามารถจ่ายเงินสมทบให้แก่การปล่อยสินเชื่องวดใหม่ของยูโรโซนได้หรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบแรกสำหรับกรีซ

ขณะที่เศรษฐกิจจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่งคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 9.3% ในไตรมาส 3 โดยจะชะลอตัวลงจาก 9.5% ในไตรมาส 2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่สูงต่อไป ตัวเลขดังกล่าวได้บ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ซึ่งขยายตัว 9.7% ในไตรมาสแรกนี้ และยังได้มีการคาดการณ์อีกว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.-ก.ย. (เทียบรายปี) จะอยู่ที่ 5.9% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 4% ขณะเดียวกัน นสพ. China Securities Journal คาดว่า จีนอาจจะชะลอการดำเนินมาตรการเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในเดือนนี้ และเดือนหน้า ที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นปีนี้ ธนาคารกลางจีนได้ปรับเพิ่ม RRR 1 ครั้งในแต่ละเดือน แต่ได้มีการคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีการปรับเพิ่ม RRR ในเดือน ก.ค.นี้ นอกจากนี้ ยังได้มีการวิเคราะห์ว่า ปริมาณเงินไหลเข้าจะชะลอตัวลง พร้อมกับการลดลงของจำนวนตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอน แต่จากคำกล่าวของประธานาธิบดี หู จินเทา ที่ได้กล่าวว่า การต่อสู้กับเงินเฟ้อนับเป็นภารกิจอันดับหนึ่ง ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า รัฐบาลจีนจะพึ่งพาการใช้เครื่องมือทางอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

สำหรับประเทศอินเดีย ธนาคารกลางอินเดีย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.50% สู่ระดับ 8.00% ในวันอังคารที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับขึ้นที่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.25% การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 11 นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2010 ซึ่งทำให้ RBI เป็นธนาคารกลางที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อแบบเชิงรุกมากที่สุดแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาค้าส่งอยู่ที่ 9.44% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งมากกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางถึงกว่า 2 เท่า และคาดว่าราคาจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงต่อไปอีกหลายเดือน แม้เศรษฐกิจอินเดียจะชะลอตัวลงก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น