xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประชุมกนง.แก้เงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คาดอัตรา ดบ. ผันผวน รอการประชุม กนง. เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) เล็งขึ้น ดบ. หลังเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขณะที่หุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น หลังกรีซมีมติรับรองมาตรการรัดเข็มขัดระยะ 5 ปี

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด รายงานภาวะตลาดตราสารหนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุต่ำกว่า 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 - 0.11 อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 2 - 10 ปี เปลี่ยนแปลงร้อยละ -0.02 - +0.06 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุมากกว่า 10 ปีเปลี่ยนแปลงร้อยละ -0.04 - +0.01 ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 - 10 ปีปรับลดลงจากร้อยละ 0.33 ในสัปดาห์ก่อน เป็นร้อยละ 0.25 ในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะปานกลางถึงระยะยาวทรงตัวถึงปรับตัวลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วมีการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 2 ปี วงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ในขณะที่นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในพันธบัตรระยะปานกลางถึงระยะยาวหลังจากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงสองสัปดาห์ก่อน

สำหรับ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวนในกรอบแคบเพื่อรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้าว่าจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างไร อย่างไรก็ดี เส้นอัตราดอกเบี้ยตลาดตราสารหนี้ในระยะถัดไป มีแนวโน้มลาดชันเพิ่มขึ้นจากนโยบายของภาครัฐที่จะมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

ด้านภาวะเศรษฐกิจยุโรป นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในสัปดาห์หน้า โดยสาเหตุสำคัญของความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นนั้นมาจากแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณเงินหมุนเวียนที่กำลังขยายตัว และข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งของเยอรมนี (30 มิ.ย.) โดยในส่วนของเงินเฟ้อนั้น จากข้อมูลเบื้องต้นของ
ยูโรสแตทระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ทรงตัวที่ 2.7% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งหมายความว่า เงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่ 2 % เป็นระยะเวลาถึง 7 เดือนติดต่อกัน

ขณะที่ปัญหาวิกฤตหนี้ของประเทศกรีซ รัฐสภากรีซมีมติด้วยคะแนนเสียง 155 ต่อ 138 ผ่านรับรองมาตรการรัดเข็มขัดระยะ 5 ปี โดย มาตรการดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะช่วยให้กรีซรับเงินกู้งวดใหม่มูลค่า 1.2 หมื่นล้านยูโรจากไอเอ็มเอฟและสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดชำระหนี้ และทำให้ตลาดหุ้นยุโรปต่างปรับตัวขึ้นมาก ขณะเดียวกัน รัฐสภากรีซจะลงมติในร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการทางการคลัง โดยจะครอบคลุมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มาตรการขึ้นภาษี และการปรับลดงบประมาณรายจ่าย

ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโอบามาเผยว่า พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ และปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ เพื่อช่วยให้สหรัฐฯหลีกเลี่ยงการผิดชำระหนี้ ซึ่งการบรรลุข้อตกลงด้านงบประมาณของสหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ จากระดับ 14.3 ล้านล้านดอลล่าร์ ก่อนที่จะถึงเส้นตายในวันที่ 2 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า กระทรวงจะไม่มีเงินเหลือสำหรับชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของสหรัฐฯ ประเด็นที่ยังคงโต้แย้งกันอยู่ ได้แก่ วิธีการใดคือวิธีการที่ดีที่สุดในการปรับลดยอดขาดดุลของสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มอาจสูงถึง 1.4 ล้านล้านดอลล่าร์ในปีนี้ พรรครีพับลิกันกล่าวว่า วิธีการที่ดีที่สุด คือ การปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงหลายล้านล้านดอลล่าร์ ส่วนพรรค
เดโมแครตระบุว่า การปรับลดยอดขาดดุลไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีการปรับขึ้นภาษี อย่างไรก็ตาม ประเด็นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ นั้นน่าจะสามารถลุล่วงไปได้

ทั้งนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลง 1,000 ราย สู่ 428,000 จาก 429,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ซึ่งยังสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 420,000 ราย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก พุ่งขึ้นสู่ 61.1 ในเดือน มิ.ย. จาก 56.6 ในเดือน พ.ค. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์อย่างมากที่ 54.0 ในเดือน มิ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ลดลงในเดือน มิ.ย. ลงสู่ 58.5 ในเดือนมิ.ย. จาก 61.7 ในเดือน พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์อย่างมากที่ 60.5 ส่วน ดัชนียอดทำสัญญาขายบ้าน (pending home sales) พุ่งขึ้น 8.2% สู่ 88.8 ในเดือน พ.ค. หลังจากแตะจุดต่ำสุดรอบ 7 เดือนที่ 82.1 ในเดือน เม.ย. ซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์อย่างมากที่ 3.8%

โดยถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดูอ่อนแอ และเหมือนจะเป็นสัญญาณลบสำหรับฤดูการรายงานผลประกอบการภาคเอกชนที่กำลังใกล้เข้ามา อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนสหรัฐฯ ไม่ได้มีการปรับคาดการณ์ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มบลูชิพส่วนใหญ่ก็ได้คงตัวเลขคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยนั่นอาจเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับตลาดหุ้น ซึ่งประเมินว่า บริษัทต่างๆ ไม่ได้ปกปิดข่าวร้ายเอาไว้ โดยปกติแล้ว หากมีข่าวร้าย บริษัทต่างๆ จะประกาศออกมาก่อน แต่ก็ไม่มีการทบทวนปรับผลประกอบการแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น