xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯเริ่มนั่งไม่ติดหลังวิกฤตการคลัง “กรีซ” ยืดเยื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี จอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ เดินหน้าปฏิรูปการคลังหลังรอดมติไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน
เอเอฟพี - ความล่าช้าในการแก้ไขวิกฤติการคลังของกรีซอย่างยั่งยืน ทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯเริ่มหมดความอดทน โดยมีเสียงสนับสนุนต่างๆกันไปเกี่ยวกับการอนุมัติวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินรอบใหม่

สหรัฐฯซึ่งเฝ้าจับตาสถานการณ์ในกรีซมานานกว่า 1 ปี กำลังให้ความสนใจกับท่าทีล่าสุดของเยอรมนี, ฝรั่งเศส และประเทศอียูอื่นๆ เนื่องจากวิกฤตการเงินของกรีซอาจส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลก

“สหรัฐฯเฝ้าติดตามวิกฤตยูโรโซนมาตั้งแต่แรก และตระหนักดีว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของโลกและสหรัฐฯมากเพียงใด” โดเมนิโก ลอมบาร์ดี จากสถาบันบรุกกิงส์ ในกรุงวอชิงตัน กล่าว

ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯเพียงแต่เรียกร้องให้กรีซเร่งปฏิรูประบบการคลัง ทว่าก็อดไม่ได้ที่จะส่งสัญญาณความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ

เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) กล่าวว่า ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซไม่เพียงเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจยุโรปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงสหรัฐฯและระบบการเงินของโลกด้วย

“หากไม่สามารถแก้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้ จะเป็นอันตรายต่อระบบการเงินของยุโรป, ระบบการเงินทั่วโลก และเอกภาพทางการเมืองในยุโรป” เบอร์นันกี แถลงต่อสื่อมวลชน

เบอร์นันกี ย้ำว่า เฟดไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อแก้ไขวิกฤตการเงินของกรีซก็จริง ทว่าก็ “ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด” โดยกล่าวถึงการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง (จี7) เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งจัดขึ้นเพื่อหารือเรื่องกรีซโดยเฉพาะ

ด้าน ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้สหภาพยุโรปแสดงท่าทีที่เป็นเอกภาพในการแก้ไขวิกฤตการคลังของกรีซ

“ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มาก หากสหภาพยุโรปแถลงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพในการจัดการวิกฤตดังกล่าว” ไกธ์เนอร์ กล่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงวอชิงตัน

“หากพวกท่านยังมีความเห็นแตกต่างกันเช่นนี้ คงเป็นการยากสำหรับนักลงทุนที่จะเข้าใจได้ว่า ยุทธศาสตร์นั้นคืออะไร”

เชย์ลา แบร์ ประธานบริษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corp.) กล่าวว่า นักลงทุนในตราสารหนี้อาจต้องยอมเสียผลประโยชน์บ้าง เพื่อให้บรรลุผลตามมาตรการพยุงสถานะการคลังของกรีซ

“อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซ ซึ่งบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องยอมเสียประโยชน์บ้าง” แบร์ กล่าว

เอ็ด ยาร์เดนี จากศูนย์วิจัยยาร์เดนี ระบุว่า แม้บางคนจะกลัวว่าวิกฤตการคลังของกรีซอาจลุกลามไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ แบบเดียวกับการล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐฯเมื่อปี 2008 ทว่าชาวอเมริกันก็ “เบื่อหน่ายที่จะดูละครซ้ำซากของกรีซเต็มทน”

“แม้การผิดนัดชำระหนี้(default)ของกรีซอาจทำให้เกิด เลห์แมน บราเธอร์ส ภาค 2 แต่หลายคนก็เชื่อว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เตรียมรับมือกับผลที่จะตามมาดีกว่า”

ยาร์เดนี ให้ความเห็นว่า หากกรีซหยุดพักชำระหนี้ก็จะส่งผลกระทบลูกโซ่เหมือนเมื่อครั้งที่ เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย ทว่าธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และเฟด ก็จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ โดยอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อควบคุมวิกฤตการณ์เหมือนครั้งก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น