xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแผนปรับเพดานหนี้สหรัฐฯ S&Pชี้มีโอกาสเครดิตถูกปรับลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาแผนปรับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ด้าน สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ชี้ มีโอกาส 50-50 ที่จะลดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA ขณะที่ ยูโรโซน มีมิตช่วยกรีซรอบ 2 กันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปประเทศ

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด รายงาน ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่น่าสนใจว่า กลุ่ม Gang of Six หรือกลุ่มวุฒิสมาชิก 6 คน สังกัดพรรคเดโมแครตและรีพับลีกันของสหรัฐๆได้เสนอแผนงบประมาณซึ่งอาจส่งผลให้สภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐก่อนเส้นตายวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว จะช่วยให้สหรัฐฯประหยัดงบประมาณได้ 3.75 แสนล้านดอลล่าร์ภายในเวลา 10 ปี ขณะที่จะเพิ่มรายได้แก่รัฐบาลสหรัฐจำนวน 1.2 ล้านล้านดอลล่าร์

ทั้งนี้ แผนของ 6 สว. จะส่งผลให้มีการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ 5 แสนล้านดอลล่าร์ได้ทันที และครอบคลุมถึงการปรับลดงบประมาณรายจ่าย ด้านความมั่นคงและด้านอื่นๆเป็นเวลา 10 ปี โดยมีการจำกัดเพดานงบประมาณรายจ่าย, การเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โครงการเมดิแคร์ และโครงการเมดิเคด ซึ่งเป็นโครงการประกันสุขภาพสำหรับคนยากจน และการยกเลิกกฎหมายภาษีทางเลือกขั้นต่ำ (AMIT) ทางด้านประธานาธิบดี โอบามาได้ประกาศสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่ม 6 สว.ดังกล่าว โดยกล่าวว่าข้อเสนอมีความสอดคล้องกับแผนการของเขาในการปรับลดหนี้และยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ ซึ่งประเด็นดังกล่าว จะสามารถนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐได้ง่ายยิ่งขึ้น

ขณะที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) เผย สหรัฐฯ มีโอกาส 50-50 ที่อันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA จะถูกปรับลดลงภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยการเจรจาลดยอดขาดดุล จะต้องเสร็จลุล่วงก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งสหรัฐจะต้องเพิ่มเพดานหนี้จากระดับ 14.3 ล้านล้านดอลล่าร์ ซึ่งจะทำให้การชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งการจ่ายเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง และทหารเผชิญกับความเสี่ยง S&P ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้มีการบรรลุข้อตกลงเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ แต่ไม่มีการดำเนินการที่มีนัยสำคัญในการลดยอดขาดดุล สหรัฐฯก็อาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจาก AAA สู่ AA

อย่างไรก็ตาม ทาง S&P มองว่าความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงเรื่องเพิ่มเพดานหนี้ และยอดขาดดุลนั้นเป็นสถานการณ์ที่เป็นไปได้น้อยที่สุด พร้อมเสริมว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตลาดการเงินโลกจะปั่นป่วน และเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเกิดการถดถอยอีกครั้ง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว S&P ก็คาดว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯจะลดงบประมาณรายจ่ายลงอย่างมาก และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ด้านประเทศในกลุ่มยูโรโซนได้มีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ 17 ชาติในวันที่ 21 กรกฎาคม โดยที่ประชุมมีมติให้การช่วยเหลือต่อกรีซเป็นครั้งที่สอง และเห็นพ้องกับมาตรการครั้งใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยสาระสำคัญมีรายละเอียด คือ กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือครั้งใหม่อย่างเป็นทางการอีก 1.09 แสนล้านยูโรจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนถึงกลางปี 2014 โดยคาดว่า EFSF ให้เงินสมทบ 2 ใน 3 ขณะที่ IMF อีก 1 ใน 3

ประธาน ECB กล่าวว่า ยูโรโซนจะสมทบเงิน 2.0 หมื่นล้านดอลล่าร์เพื่อเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารของกรีซ และจะมีการจัดสรรงบให้อีก 3.5 หมื่นล้านยูโร เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของยุโรปสำหรับช่วยเหลือกรีซ, ไอร์แลนด์, และโปรตุเกส ลงสู่ระดับร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 4 จะมีการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ของประเทศเหล่านี้อีก 2 เท่า เป็นระยะเวลา 15 ปีเป็นอย่างต่ำ และจะขยายเวลาออกไปถึง 30 ปี โดยมีระยะเวลาปลดหนี้ 10 ปี

อย่างไรก็ตามผู้นำยุโรปประกาศว่าจะมีการเปิดตัวแผน "Marshall Plan" สำหรับกรีซ ซึ่งเป็นโครงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ด้วยความสนับสนุนจากกองทุนช่วยเหลือทางโครงสร้างของสหภาพยุโรป (EU) และความช่วยเหลือทางเทคนิคในการทำการปฎิรูป
กำลังโหลดความคิดเห็น