xs
xsm
sm
md
lg

‘วันที่ 2 ส.ค.’สหรัฐฯจะต้อง‘ผิดนัดชำระหนี้’จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - วันที่ 2 สิงหาคม หรือวันอังคารหน้านี้ คือเส้นตายที่สหรัฐฯจะต้องตกอยู่ในภาวะผิดนัดชำระหนี้ (default) ทันทีเลยหรือ ถ้าหากรัฐสภาอเมริกันยังคงไม่สามารถประนีประนอมกันเพื่อขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลให้สูงขึ้นได้

นักวิเคราะห์จำนวนมากบอกว่า ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก พวกเขาชี้ด้วยว่าแม้กระทั่งเมื่อหมดความไม่สามารถที่จะก่อหนี้กู้เงินเพิ่มเติมอีกแล้วจริงๆ รัฐบาลสหรัฐฯก็ยังน่าจะหลีกเลี่ยงผัดผ่อนภาวะผิดนัดชำระหนี้อันน่าหวาดผวา ไปได้อีกสักประมาณ 1 สัปดาห์

ในระยะหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และรัฐมนตรีคลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ต่างออกมาเน้นย้ำว่า กระทรวงการคลังอเมริกันจะหมดสิ้นช่องทางยักย้ายถ่ายเทกู้ยืมเงินแล้วเมื่อถึงวันที่ 2 สิงหาคม พร้อมกับเตือนผลต่อเนื่องอันเลวร้ายแสนสาหัสที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากถึงตอนนั้นคองเกรสยังไม่ขยับเพิ่มเพดานก่อหนี้จากระดับ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ที่ขีดเอาไว้ในปัจจุบัน

ทว่าพวกเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังนั้นไม่เคยพูดเลยว่าเมื่อใดที่รัฐบาลจะหมดสิ้นเงินสดสำหรับชำระหนี้สินของประเทศจริงๆ และในหมู่นักวิเคราะห์วอลล์สตรีทก็มีความเห็นเป็นฉันทามติว่า หลังจากเส้นตายที่ระบุกันในวันอังคารหน้า รัฐบาลก็ยังจะมีเงินสดไว้จับจ่ายต่อไปอีกสักราวๆ 2 สัปดาห์

“วันที่ที่มีความเสี่ยงที่จะต้องเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ตามกฎหมายจริงๆ นั้น วันแรกสุดเลยคือ 15 สิงหาคม” วอร์ด แมคคาร์ธี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์การเงินและกรรมการผู้จัดการของค่าย เจฟเฟอรีส์ แอนด์ โค กล่าว “เงินสดจะยังไม่เป็นปัญหาในทันทีทันใดหรอก ช่วงเพดานการก่อหนี้ก็จะยังไม่เป็นปัญหาในทันทีทันใด”

แมคคาร์ธีและนักวิเคราะห์วอลล์สตรีทคนอื่นๆ ทำนายว่ากระทรวงการคลังจะยังมีเงินสดมากเพียงพอที่จะชำระหนี้สินตามพันธะต่างๆ ในช่วงต้นและกลางเดือนสิงหาคม รวมทั้งรายจ่ายจำนวน 23,000 ล้านดอลลาร์ที่จะต้องจ่ายในโครงการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการในวันที่ 3 สิงหาคม

พวกนักวิเคราะห์ยังคาดหมายกันว่า กระทรวงการคลังก็จะสามารถชำระดอกเบี้ยและออกตราสารหนี้รัฐบาลก้อนใหม่เป็นการต่ออายุตราสารหนี้ก้อนเก่าจำนวน 90,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 4 สิงหาคม

“เมื่อดูจากการคาดการณ์ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขา (กระทรวงการคลังสหรัฐฯ) มีเงินสดเหลือเฟือที่จะชำระหนี้ตามพันธะต่างๆ” ลู แครนดัลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัมวิจัย ไรต์สัน ไอซีเอพี ให้ทัศนะ

ทั้ง ไรต์สัน และเจฟเฟอรีส์ ต่างคาดหมายว่า สหรัฐฯจะตกอยู่ในฐานะผิดนัดชำระหนี้ก็ในวันที่ 15 สิงหาคม อันเป็นวันที่รัฐบาลอเมริกันจะต้องชำระเงินจำนวน 41,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นค่าดอกเบี้ยสำหรับตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ บาร์เคลย์ แคปิตอล มองการณ์ย่ำแย่กว่าหน่อย โดยคิดว่ากระทรวงการคลังจะหมดเงินสดสำหรับชำระหนี้ประมาณวันที่ 10 สิงหาคม เมื่อถึงกำหนดต้องใช้จ่ายเงิน 8,500 ล้านดอลลาร์ในโครงการสวัสดิการสังคม

ทางด้านโฆษกกระทรวงการคลังอเมริกันนั้น ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เมื่อถูกสอบถามกี่ยวกับเรื่องนี้

พวกนักวิเคราะห์ไม่คาดหมายว่า บริษัทเครดิตเรตติ้งต่างๆ จะประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สหรัฐฯในทันที ถ้าหากรัฐสภาไม่ได้ขยายเพดานการก่อหนี้ภายในวันที่ 2 สิงหาคม ทว่ารัฐบาลยังคงมีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ต่อไปอีก

เรื่องนี้จึงอาจจะทำให้รัฐสภาที่กำลังแตกแยกกันหนัก มีเวลาเพิ่มขึ้นในการจัดทำแผนการประนีประนอมในการตัดลดการใช้จ่ายงบประมาณในอนาคต แลกเปลี่ยนกับการขยับเพิ่มเพดานการก่อหนี้

พวก ส.ส.พรรครีพับลิกันที่เวลานี้ตกอยู่ในอิทธิพลของกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง “ที ปาร์ตี้” (Tea Party) เป็นอย่างมาก ดูจะพยายามย้ำในจุดนี้

“เราคิดว่าในเดือนสิงหาคม (กระทรวงการคลัง)ยังมีเงินอยู่มากพอที่จะดูแลสิ่งต่างๆ ได้” เป็นคำกล่าวของ ส.ส.จิม จอร์แดน ประธานคณะกรรมการศึกษาของพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วย ส.ส.อนุรักษนิยมและพวกพันธมิตรของ ที ปาร์ตี้ มากกว่า 150 คน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า ทัศนะเช่นนี้ยังไม่ได้คำนึงถึงว่า ตลาดการเงินและนักลงทุนจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร ถ้าหากรัฐสภาล้มเหลวไม่ขยับเพิ่มเพดานการก่อหนี้เมื่อถึงเส้นตายที่ว่าไว้ และกระทรวงการคลังหมดความสามารถที่จะเข้าไปหาเงินกู้จากตลาดได้จริงๆ ขึ้นมา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักวิเคราะห์บางคนกล่าวโทษขุนคลังไกธ์เนอร์ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ระบุวันเวลาที่คาดหมายว่าตนเองจะหมดวิธีหาเงินมาชำระหนี้ ถ้าหากไม่มีการขยับเพดานการก่อหนี้ แต่พอใกล้ๆ ก็กลับเลื่อนเส้นตายออกไปอีก เป็นเช่นนี้มาแล้ว 3 ครั้ง ทำให้เส้นตายล่าสุดคือวันที่ 2 สิงหาคม ถูกตั้งคำถามว่าจะมีการเลื่อนออกไปอีกเช่นเดียวกันหรือไม่

“มันไม่ได้ช่วยอะไรเลยที่พวกเขา (กระทรวงการคลัง) ปรับวันเวลามาหลายหนแล้ว มันทำให้พวกสมาชิกรัฐสภาบังเกิดความรับรู้ความเข้าใจขึ้นมาว่า แม้กระทั่งผ่านพ้นเส้นตายไป มันก็ยังน่าจะโอเคอยู่” ทอม ไซมอนส์ นักเศรษฐศาสตร์ตลาดเงิน แห่ง เจฟเฟอรีย์ แอนด์ โค กล่าว พร้อมกับเตือนว่า ในที่สุด “มันจะต้องมาถึงจุดที่ความรับรู้ความเข้าใจเช่นนี้ ไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น