เอเยนซี - ธนาคารกลางจีน ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยพื้นฐานเงินกู้ยืมขึ้นอีกร้อยละ 0.25 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (7 ก.ค.) นับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ในปีนี้ และพร้อมกันนี้ ยังปรับเพิ่มเพดานทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงสำหรับธนาคารพาณิชย์ เป็นครั้งที่ 6 ในรอบปีด้วย
สื่อจีนรายงานวันที่ 6 ก.ค. อ้างแถลงการณ์ธนาคารกลางจีนระบุว่า จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ขึ้นเป็นร้อยละ 6.56 และจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปี ขึ้นเป็นร้อยละ 3.50
ก่อนหน้านี้ ธนาคารเคยออกมาย้ำถึงความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งคาดการณ์เงินเฟ้อดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือนมิ.ย.ที่มีกำหนดเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ อาจพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ร้อยละ 6 ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ จึงเป็นไปตามความคาดหมาย
ทั้งนี้ ราคาอาหาร ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อราคาผู้บริโภค เดือน พ.ค.ของจีน สูงขึ้นถึงร้อยละ 5.5 ต่อปี สูงสุดในรอบ 34 เดือน และสูงกว่าเพดานเงินเฟ้อของรัฐบาลที่ร้อยละ 4 ในปีนี้ ขณะราคาที่อยู่อาศัย และไฟฟ้า ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
กั่ว เทียนหยง นักเศรษฐศาสตรืจาก Central University of Finance and Economics กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีความจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหลของทุน
ปา ซู๋ซ่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จาก State Council Development Research Center หน่วยงานระดับที่ปรึกษา ของรัฐบาล กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของธนาคารกลางนี้เป็นตามคาดอยู่แล้ว และยังคงสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อีกมากกว่านี้ เพราะปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องใหญ่ และต้องแก้ปัญหาให้ได้ก่อน
เสี่ยะ ปิน ที่ปรึกษาธนาคารกลาง กล่าวกับบลูมเบิร์กฯ สื่อต่างประเทศ ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นมานี้ ยัง "ไม่พอ" เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ สอดคล้องกับความเห็นของ ซู๋ว์ เซี่ยวเหนียน ศาสตราจารย์ภาคเศรษฐศาสตร์การเงินฯ จาก China Europe International Business School ที่กล่าวว่า การปล่อยให้มีช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย กับอัตราเงินเฟ้อ เกิดขึ้นมากและเนิ่นนานไปจะเป็นผลเสียหาย"
ขณะที่ หลี่ ฮุ่ยหง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Shenyin & Wanguo Securities ในเซี่ยงไฮ้ คาดว่า ในครึ่งปีหลังนี้ มาตรการคุมเข้มการเงินของจีนคงจะเริ่มเห็นผลรูปธรรมมากขึ้น