พีเพิลเดลี - ธนาคารกลางจีนตัดสินใจ (14 มิ.ย.) สั่งให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มเงินฝากสำรองอีกครั้ง เพื่อพยายามควบคุมเงินเฟ้อ ที่ในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้นถึง 5.5 เปอร์เซ็นต์สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
ธนาคารประชาชนหรือธนาคารกลางจีนแถลงการณ์เมื่อบ่ายวันอังคาร (14 มิ.ย.) ว่า ปรับเพิ่มอัตราเงินสดสำรองของธนาคารผู้ปล่อยกู้อีก 50 จุด ส่งผลให้สัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารจีน แตะระดับสูงสุดทุบสถิติเป็น 21.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถกักเงินไว้อีกราว 380,000 ล้านหยวน มิฉะนั้นแล้ว เงินดังกล่าวอาจถูกนำไปปล่อยกู้ หรือไหลเข้าสู่ระบบ ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อหนักขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ หลายคนเชื่อว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า จีนอาจจะยังลังเลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะจะไปกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และกระตุ้นเงินทุนไหลเข้าที่หวังเข้ามากอบโกยประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยของจีน
ธนาคารกลางฯ มีคำแถลงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสำนักสถิติฯเผย ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. ที่สูงสุดในรอบ 34 เดือน สืบเนื่องจากราคาอาหารและอสังหาริมทรัพย์ที่ยังแพงลิบลิ่ว
จีนได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2554 แล้ว 2 ครั้ง พร้อมกับคุมเข้มนโยบายทางการเงินเพื่อต่อกรกับปัญหาเงินเฟ้อ
สีว์ เว่ยหง นักวิเคราะห์จากกั๋วโตว ซิเคียวริตี เผยว่า “การตัดสินใจของจีนนี้เร็วมาก แสดงว่าการควบคุมเงินเฟ้อของจีนอยู่ในช่วงที่อับจนหนทางจริง ๆ ธนาคารกลางจีนถึงสั่งเพิ่มเงินสำรองธนาคารอีก”
เงินเฟ้อในเดือนพ.ค. เกิดขึ้นมาจากราคาอาหารที่ถีบตัวสูงถึง 11.7 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 11.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคการผลิตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารก็กระโดดจากเดือนเม.ย. 2.7 มาเป็น 2.9 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพ.ค. ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าสูงสุดนับแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันกระแสกดดันเรื่องราคาอาหารก็กำลังระบาดไปทั่วแผ่นดินจีน
ดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ พีพีไอ เครื่องมือชี้วัดเงินเฟ้อจากการผลิตในโรงงาน ขยายตัว 6.8 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า เท่ากับเดือนเม.ย. ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค ปรอทชี้วัดเงินเฟ้อของจีนยังคงสูงเกินที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น