พณ.รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค.พุ่งขึ้น 4.19% เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่แพงขึ้น “ยรรยง” คาด เงินสะพัดช่วงเลือกตั้ง ส่งผลอัตราเงินเฟ้อ มิ.ย.เพิ่มขึ้น
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 112.39 สูงขึ้น 4.19% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553 และสูงขึ้น 0.34% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2554 โดยเป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม มีการปรับราคาสูงขึ้น 8.38% โดยสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น ได้แก่ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผัก และผลไม้ รวมทั้ง อาหารสำเร็จรูป
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน เดือนพฤษภาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 106.08 เพิ่มขึ้น 2.48% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.46% จากเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) สูงขึ้น 3.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และ Core CPI เพิ่มขึ้น 1.79% โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เป็นผลจากดัชนีโหมดอาหารและครื่องดื่มสูงขึ้น 8.38% อีกทั้งหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.69%
โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปีนี้ ว่า จะมีการขยายตัว 3.2-3.7% สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อเงินเฟ้อปีนี้ คือ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรงพาณิชย์ เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นช่วงหาเสียงการเลือกตั้งจะมีเงินสะพัดและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวกดดันเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้น แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีจะไม่เกิน 3.5% และในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวลดลง
“เงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.อาจจะยังสูงขึ้น แต่เชื่อว่า เงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน จะสามารถดูแลให้ไม่เกิน 3.5% ซึ่งอยู่ในเป้าคาดการณ์เงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งปีนี้ที่ 3.2-3.7% โดยหากสามารถดูแลราคาอาหารให้อยู่ในระดับ ที่เหมาะสมได้ อัตราเงินเฟ้อก็คงจะไม่เปลี่ยนแปลงออกนอกเป้าหมาย”