เอเยนซี - ธนาคารกลางจีน เผยวันที่ 13 มิ.ย. ว่า ยอดการปล่อยเงินกู้ครั้งใหม่ของธนาคารพาณิชย์จีนในเดือนพ.ค. ลดลงไปเกือบ 2 แสนล้านหยวน สู่ระดับ 5.516 แสนล้านหยวน หลังจากที่เดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 7.396 แสนล้านหยวน
ธนาคารกลางเผยว่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ยอดปล่อยกู้ดังกล่าว ยังขยายตัวน้อยกว่า 1.005 แสนล้านหยวน โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 ซึ่งรวมถึง กระแสเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากทุกประเภทเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ต่อปี ที่ 76.34 ล้านล้านหยวน ขณะที่อัตราการขยายตัวดังกล่าว ยังต่ำกว่าเดือน พ.ค. ปีที่แล้วอยู่ร้อยละ 5.9
ด้านปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M1 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดกระแสเงินสดหมุนเวียน และเงินฝากของกลุ่มนิติบุคคล พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เทียบกับปีก่อน เป็น 26.93 ล้านล้านหยวน น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ประมาณร้อยละ 17.2
เถา ต่ง นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจาก Credit Suisse Group AG ในฮ่องกง กล่าวว่า "เศรษฐกิจจีนกำลังทำท่าจะปรับระดับลงในครึ่งปีหลังนี้ แต่ตัวเลขนี้ก็ยังสะท้อนชัดถึงความเสี่ยง"
ทั้งนี้ ยอดการปล่อยกู้ในห้าเดือนแรกของปีนี้ รวมอยู่ที่ 3.55 ล้านล้านหยวน ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 12 และยิ่งต่ำกว่าเมื่อตอนที่ ระดมชุดมาตรการรับมือกับวิกฤติการเงินโลกในปี 2552 ถึงร้อยละ 40
ด้านตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มาตรวัดเงินเฟ้อหลัก ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) จะเผยในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า จะพุ่งขึ้นสุงสุดในไตรมาส 2 เนื่องมาจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ก่อนที่จะเริ่มลดลงในไตรมาส 3
โดยนายจาง จ้าวหยวน นักเศรษฐศาสตร์จาก สถาบันสังคมศาสตร์ของจีน (CASS) กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (12 มิ.ย.) ว่า ปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไขในเดือนนี้ และเรียกร้องให้ใช้มาตรการดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด หลังจากที่ธนาคารกลางฯ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไป 2 ครั้งแล้วในปีนี้ และบรรดานักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าคงจะต้องปรับฯ อีกในเร็ววันนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเงินเฟ้อ
สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อในนี้ (เดือนมิ.ย.) นายจางคาดว่า น่าจะทะลุถึง 6 ซึ่งจะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5 แม้ว่ารัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 4
ตามโพลล์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่สำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์ 22 คน ผลปรากฎว่าคาดการณ์เฉลี่ยของดัชนีผู้บริโภคในเดือน พ.ค.นี้ จะอยู่ที่ ร้อยละ 5.4 สูงขึ้นจากเดือนเม.ย. ร้อยละ 0.1