xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อจีนเดือน พ.ค. 5.5 % สูงสุดในรอบเกือบสามปี !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่าย 13 มิ.ย. แม่ค้าชาวจีนกำลังรอลูกค้ามาซื้ออาหารในตลาดเมืองเหอเฝย มณฑลอานฮุย ทั้งนี้ในเดือนพ.ค. เงินเฟ้อจีนสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี อยู่ที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากราคาอาหารและอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงสูงต่อเนื่อง (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - “เงินเฟ้อ” อันเป็นปัญหาความอ่อนไหวทางการเมืองของจีน ในเดือนพ.ค. พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี แม้รัฐบาลจะยายามสุดกำลังในการควบคุมราคาสินค้าและอสังหาริมทรัพย์แล้วก็ตาม

สำนักสถิติแห่งชาติจีนเผยวันอังคาร (14 มิ.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือค่าซีพีไอ ปรอทชี้วัดเงินเฟ้อของจีนในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 5.5 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นมาจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 5.3 เปอร์เซ็นต์ และห่างไกลกับเป้าหมายที่จีนตั้งไว้ให้อยู่ที่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากราคาอาหารสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเหตุขาดแคลนพลังงานและปัญหาภัยแล้งสาหัสในบางพื้นที่

ล่าสุด ในวันนี้ธนาคารกลางจีนได้มีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์คงเงินทุนสำรองไว้อีก 50 จุด เพื่อชะลอปัญหาเงินเฟ้ออีกทางหนึ่งด้วย

ตัวเลข 5.5 เปอร์เซ็นต์ฯ ถือว่าสูงสุดนับแต่เดือนก.ค. 2551 ซึ่งเคยทุบสถิติ 6.3 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลนี้น่าจะทำให้รัฐบาลจีนมีมาตรการเข้มงวดทางการเงินมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลกำลังหวาดกลัวว่า ปัญหาเงินเฟ้อต่อเนื่องจะนำมาซึ่งการจุดชนวนความไม่สงบในสังคมได้

เซิ่ง ไหลอวิ้น โฆษกสำนักสถิติแห่งชาติแถลงข่าวว่า “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกอย่างจีน ยังคงประสบปัญหากดดันจากเงินเฟ้ออย่างหนัก และต้องงัดสารพัดมาตรการมาควบคุมคาคาสินค้าให้ได้”

ไบรอัน แจ็กสัน นักยุทธศาสตร์อาวุโสของ รอยัล แบ้งก์ออฟแคนาดา ชี้ว่า ดูเหมือนว่าจีนจะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งหากเพิ่มอีกก็ถือว่าเป็นครั้งที่ 5 แล้วนับแต่เดือนต.ค. 2553 “ผมหวังว่าเงินเฟ้อจีนในปลายปีจะมีแนวโน้มลดลง”

จีนได้ปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่ามากกว่าร้อยละ 5 ต่อดอลลาร์สหรัฐ นับแต่เคยลั่นไว้เมื่อปีที่แล้วว่าจะปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินเป็นไปอย่างเสรี หลังจากถูกต่างชาติกดดันอย่างหนักว่าจีนแข็งค่าเงินหยวนเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

อลิสแตร์ ธอร์ตัน นักวิเคราะห์ของ ไอเอชเอส โกลบอล อินไซท์ เห็นด้วยกับแจ็กสัน แต่ชี้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยควรจะเลื่อนไปจนถึงเดือนก.ค.

อย่างไรก็ตามบรรดานักลงทุนยังมีมุมมองในเชิงบวกกับข้อมูลนี้ฯ

ในเดือนพ.ค. มีสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ยอดขายรถยนต์ลดลงในไตรมาสที่สองปีต่อปี และยอดการปล่อยเงินกู้ครั้งใหม่ของธนาคารพาณิชย์จีนก็ลดลงไปเกือบ 2 แสนล้านหยวน

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกังวลว่า มาตรการของรัฐบาลจีนอาจจะไปไกลเกินกว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าลงตามเป้าฯได้ ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัวอยู่ที่ 9.7 เปอร์เซ็นต์

นอกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว จีนยังสั่งให้ธนาคารสำรองเงินคงคลังไว้มากขึ้น พร้อมกับเข้มงวดการปล่อยกู้เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
กำลังโหลดความคิดเห็น