xs
xsm
sm
md
lg

คาดคอมมอดิตี้แนวโน้มปรับตัวขึ้น กองทุนในสหรัฐฯเล็งเพิ่มน้ำหนักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กองทุนในสหรัฐฯ คาดแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวจะปรับตัวสดใส เล็งเพิ่มน้ำหนักการลงทุน ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ครั้งที่สองในรอบ 3 เดือน จาก 0.25% สู่ 1.5% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด รายงานภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปที่น่าสนใจว่า กองทุนสหรัฐฯ มองว่าแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ในระยะสั้นอ่อนแอ แต่ยังคงคาดการณ์แนวโน้มราคาที่สดใสในระยะยาว ซึ่งนักวิเคราะห์สหรัฐฯ กล่าวว่า กองทุนบางแห่งคาดว่าจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2012 แต่นับว่ามีความเชื่อมั่นน้อยกว่าในปี 2009 และ 2010 โดยความเชื่อมั่นในระยะสั้นนั้นยังคงอ่อนแอ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับทิศทางในระยะใกล้ นอกจากนี้ ผลสำรวจของนักลงทุนสถาบันเกือบ 400 รายของเครดิต สวิส พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในปีนี้ ในขณะที่ 36% คาดว่าจะลงทุนเท่ากับตลาด อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจในครั้งนี้ต่ำกว่าผลสำรวจที่จัดทำขึ้นในปี 2009 และ 2010 ซึ่งประมาณ 50% ระบุว่าจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์

ขณะที่บริษัท เฮดจ์ ฟันด์ รีเสิร์ช เปิดเผยว่า กองทุน Hedge Funds จำนวนมากในสหรัฐฯ ขาดทุนอย่างหนัก โดยเฮดจ์ฟันโดยเฉลี่ยร่วงลง 2.12% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2011 ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่นอกเหนือความคาดหมาย เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2011 ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% โดยกองทุนเฮดจ์ ฟันด์ ของผู้บริหารชื่อดัง เช่น นายจอห์น พอลสัน นายเดวิด ไอน์ฮอร์น และนายหลุยส์ เบคอน ต่างมีผลการดำเนินงานที่แพ้ดัชนี S&P500 โดยกองทุนของนายพอลสันนั้นปรับลดลงถึง 15% ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารกองทุนตัดสินใจผิดพลาดในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ในปีนี้ รวมถึงภัยพิบัติในญี่ปุ่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สม่ำเสมอของสหรัฐฯ และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ความกังวลเรื่องกรีซ และความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศอื่นๆ ในยุโรป

ส่วนของตัวเลขการจ้างงาน จะสังเกตได้ว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ ว่าจ้างพนักงานใหม่ในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นราว 4 เท่าของเดือนพฤษภาคม ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถหลุดพ้นจากภาวะซบเซาหลังผ่านพ้นช่วงครึ่งปีแรกไปได้ โดยปัจจัยต่างๆ ที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มลดลงในช่วงนี้ อันมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวลดลง บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ปรับเพิ่มกำลังการผลิต และมูลค่าบ้านที่ชะลอการลดลง ซึ่งมุมมองนี้ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากรายงานยอดขายของบริษัทค้าปลีกหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่สูงเกินคาดในเดือนมิถุนายน

ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ 1.5% ซึ่งถือเป็นการขึ้นครั้งที่สองในรอบ 3 เดือน การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณว่าอีซีบีมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าวิกฤติหนี้ยูโรโซนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยตลาดได้คาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้แล้ว อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนทรงตัวที่ระดับ 2.7% ในเดือนมิถุนายนซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่อีซีบี ตั้งไว้ที่ระดับ 2% โดยระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศพร้อมที่จะช่วยเหลือโปรตุเกส และให้สัญญาว่าจะอัดฉีดสภาพคล่องแก่ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนและโปรตุเกสต่อไป ไม่ว่าตราสารหนี้โปรตุเกสจะมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับใดก็ตาม โดยประธานอีซีบี ยังยืนยันแนวคิดเดิมที่ว่าการให้ความช่วยเหลือใดๆ จะต้องไม่ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หรือการจ่ายเงินประกันสินเชื่อ โดยอีซีบีจะจับตามองอย่างใกล้ชิดมากต่อการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของราคา โดยก่อนหน้านี้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้โปรตุเกสลงสู่สถานะ "ขยะ" ซึ่งประธานอีซีบีได้วิจารณ์ว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งนั้นมีอิทธิพลมากเกินไป และยังกล่าวว่าวิธีการปฏิบัติงานของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ไม่ได้อยู่ในภาวะที่ดีที่สุด

ทั้งนี้กลุ่มวิจัย Sentix เปิดเผยผลสำรวจว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนพุ่งขึ้นแตะระดับ 5.3 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 3.5 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของรอยเตอร์ที่ 1.2 สาเหตุสำคัญที่ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจาก 1) นักลงทุนกำลังชื่นชมความพยายามต่างๆ ที่จะช่วยเหลือกรีซ ซึ่งได้ผ่อนคลายสถานการณ์สำหรับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่มีสถานะอ่อนแอในยูโรโซน 2) การปรับฐานของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ลดลง และ 3) ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงจากเดือน ก.พ. / มี.ค.

เช่นเดียวกับธนาคารกลางจีนที่ระบุว่า จีนต้องปรับลดการใช้งบรายจ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากปัจจุบันประเทศจีนประสบกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือนที่ 5.5% และมีโอกาสที่จะพุ่งทะลุระดับ 6% ในเดือนมิถุนายน รองประธานธนาคารกลางจีนกล่าวว่า สาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อในจีนมาจากนโยบายงบประมาณขาดดุลของจีนทุกปี ประกอบกับการที่ธนาคารกลางจีนไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายทางการเงิน โดยทำหน้าที่เหมือนกระทรวงที่ขึ้นตรงกับคณะรัฐมนตรีของจีน ซึ่งแตกต่างจากธนาคารกลางของประเทศชั้นนำอื่นๆ ดังนั้น การตัดสินนโยบายของธนาคารกลางจีนจึงมักจะได้รับอิทธิพลจากกระทรวงที่มีอำนาจอื่นๆ ในคณะรัฐมนตรีของจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น