xs
xsm
sm
md
lg

คาดสหรัฐฯอาจปล่อยมาตรการQE3 หวังกระตุ้นศก.อัดการบริโภคในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการกองทุน คาดสหรัฐฯอาจปล่อยมัดเด็ดส่งมาตรการ QE3 ในวันนี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจอัดการบริโภคภายในประเทศเพิ่ม หลังโดน S&P หั่นเครดิตความน่าเชื่อถือ พร้อมประเมินหุ้นไทยได้รับผลกระทบสั้นๆมั่นใจดัชนีฯยังไปต่อ

แหล่งข่าวจากผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง กล่าวถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงนี้ว่า การที่สหรัฐฯโดนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงเหลือ AA+ จาก AAA ซึ่งต้องยอมรับว่าหลังจากสหรัฐฯขอขยายเพดานหนี้ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หลายฝ่ายเริ่มจับตาไปที่สถาบันจากอันดับความน่าเชื่อทั้งหลายว่าจะมีการปรับลดความน่าเชื่อหรือไม่ อย่างไรก็ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯที่คาดว่าจะมีต่อจากนี้คือการใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนเชิงปริมาณ (Quantative Easing) หรือ QE3 ซึ่งคงต้องดูในวันนี้ (10 สิงหาคม) จะมีมาตรการดังกล่าวออกมากระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้หรือไม่

ทั้งนี้เรามองว่าการออกมาตรการ QE3 นั้นจะสามารถอัดสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ ซึ่งสหรัฐฯมีเงินหมุนเวียนในระบบค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันยังเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้อีกด้วย ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นอาจจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ผลกระทบการลดเครดิตของสหรัฐฯครั้งนี้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาของนักลงทุน ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ต้องยอมรับว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากซึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะมีการเทขายเพื่อทำกำไรบ้างซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเทขายเนื่องจากกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามเรามองว่าหากสถานการณ์การเมืองไทยนิ่ง เศรษฐกิจโลกยังไปต่อได้ ดัชนีฯตลาดหุ้นไทยก็ยังปรับตัวต่อได้

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบของสหรัฐฯกรณีโดนปรับลดเรทติ้งที่มีต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกคาดว่า นักลงทุนจะยังคงอยู่ในกระแสของการปรับลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ต้องสะดุดลงด้วยวิกฤตในภาคการคลัง อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากปริมาณ คุณภาพ และสภาพคล่องของตลาด

อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2555 จนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1 สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกดดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวชะลอลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 (จากคาดการณ์กรณีปกติที่ร้อยละ 12.0-17.0) โดยธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงมีโอกาสได้รับผลกระทบมาก ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากจีนและภูมิภาคเอเชีย บวกกับมาตรการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลไทยอาจช่วยประคับประคองให้จีดีพียังขยายตัวเป็นบวกได้ แต่อัตราการขยายตัวอาจต่ำลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 2 (จากคาดการณ์กรณีปกติที่ร้อยละ 4.5-5.8)

ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย โดยผลกระทบต่อสภาพคล่องของระบบนั้นอาจลดลงในระยะสั้นตามเงินไหลออก โดยคาดว่าในระยะสั้น มีโอกาสปรับตัวลดลง จากพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งอาจนำมาสู่การโยกเงินลงทุนออกจากสินทรัพย์สกุลเงินเอเชียและบาท ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทย ไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า

ขณะที่ ในระยะกลางถึงยาว คาดว่าสภาพคล่องมีโอกาสได้รับแรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้า ตามพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและเอเชียที่น่าจะยังแข็งแกร่งกว่าสหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบ รวมถึงจากโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจผลักดันมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพิ่มเติมเพื่อประคองโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงจะมีผลในการเพิ่มปริมาณสภาพคล่องโลกและหนุนเงินไหลเข้าสู่ตลาดเอเชียและไทยได้

นอกจากนี้ผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย จับตาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านลูกค้า โดยสินเชื่อมีโอกาสชะลอลงกว่าคาด โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจนำมาสู่การชะลอความต้องการสินเชื่อเพื่อการผลิต/ลงทุนเพิ่ม รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจอ่อนตัวลง อันจะทำให้ความต้องการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนชะลอลงตามไปด้วย

ทางด้านความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มลูกค้า ธุรกิจที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อมค่อนข้างสูง มีความยืดหยุ่นในการปรับธุรกิจค่อนข้างต่ำ รวมถึงไม่ได้ปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ Counterparty Risks ของธนาคารและลูกค้าอาจเพิ่มขึ้นจากการที่คู่ค้าในสหรัฐฯ บางรายอาจเผชิญความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเช่นกัน ซึ่งความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว คงเป็นประเด็นท้าทายคุณภาพสินทรัพย์ในภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ในระยะหลายไตรมาสข้างหน้า

ส่วนความเสี่ยงด้านตลาดและสภาพคล่องเพิ่มขึ้น จากความผันผวนของตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการ Mark-to-Market ของพอร์ตเงินลงทุน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบทางตรงดังกล่าวอาจอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากพอร์ตสินทรัพย์ต่างประเทศในตลาดเงินระยะสั้นและเงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์ มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 5 ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2553)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุต่อว่า ผลต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ทางธปท.คงจะชั่งน้ำหนักแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โลก และผลกระทบต่อไทยมากขึ้นในการประชุมรอบต่อๆ ไป แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ย่อมเพิ่มแรงกดดันต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ (ยกเว้นทองคำ) ที่อ่อนตัวและอาจไม่สามารถรักษาระดับสูงไว้ได้ ผนวกกับแรงส่งการขยายตัวจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ลดลง อาจลดทอนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะถัดไป ดังนั้น จึงคาดว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะชั่งน้ำหนักปัจจัยด้านความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว รวมถึงผลกระทบที่อาจตามมาต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย ในการประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบต่อๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่การทยอยประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะตามมาในอนาคต บ่งชี้ภาพในเชิงลบมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น