xs
xsm
sm
md
lg

INGมองเกรทเทอร์ไชน่ามาแรง ส่งทริกเกอร์ฟันด์ดักทำกำไร10%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ไอเอ็นจี มองหุ้นจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ศักยภาพการเติบโตสูง กระแสะเงินทุนเริ่มไหลเข้ากลุ่มเกรทเทอร์ไชน่ามากขึ้นหลังปัญหาเรื่องเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายลง ล่าสุดกองทุน “เกรทเทอร์ ไชน่า ทริกเกอร์’ดักกำไร 10% เปิดขายไอพีโอตั้งแต่วันนี้ถึง 4 พฤษภาคมนี้

นางสาวศิริพรรณ สุทธาโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายจัดการกองทุน-ตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศในกลุ่มเกรทเทอร์ ไชน่า ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศจีน ไต้หวัน และฮ่องกง ต่างก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป โดยประเทศจีนมีพัฒนาการแบบบูรณาการ จากการเน้นการผลิตเพื่อส่งออกสู่ประเทศที่มีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการในประเทศสูง จึงทำให้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งและฐานะการเงินที่มั่นคง สำหรับตลาดหุ้นก็มีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกมากหากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและมาตรการควบคุมทางการเงินเบาบางลง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีนยังมีอัตราส่วนหุ้นต่อกำไร (P/E) ที่ค่อนข้างต่ำ โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 12.1 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในอดีตที่ 13.9 เท่า

ส่วนฮ่องกงซึ่งมีเศรษฐกิจเกื้อหนุนระหว่างจีน ทำให้ได้รับประโยชน์อย่างมากทั้งด้านธุรกิจการค้า การเงิน-การลงทุน อสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยว โดยการที่รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้เปิดเสรีซื้อขายเงินหยวนในฮ่องกง ซึ่งรวมทั้งการฝากเงิน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นในรูปเงินหยวน จะผลักดันให้ตลาดการเงินใหม่ในฮ่องกงพัฒนาอย่างรวดเร็วในอนาคตต่อไป และนั่นทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นตลาดที่มีหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มากที่สุดในโลกในปี 2553 ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นฮ่องกงในปัจจุบันยังมี P/E ที่ต่ำมาก โดยอยู่ที่ 11.0 เท่าซึ่งต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในอดีตที่ 13.7 เท่า

ในส่วนของไต้หวันเองก็เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการผลิตที่ทันสมัยในภูมิภาคเอเชีย ก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 10.82% ในปี 2553 ซึ่งสูงสุดในรอบ 24 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกไปยังจีน และในปีนี้ไต้หวันก็น่าได้รับประโยชน์ในการเป็นผู้รับผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงหลังจากที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาจากแผ่นดินไหว ซึ่งตลาดหุ้นไต้หวันก็ถือได้ว่ามี P/E ที่ค่อนข้างต่ำเช่นกัน โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 12.0 เท่า ซึ่งต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในอดีตที่ 14.0 เท่า

ขณะที่นายอุดมการณ์ อุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจกองทุนและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ไอเอ็นจี กล่าวเสริมว่า ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อของจีนนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ดได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 เป็นต้นไปและคาดการณ์ระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 2555 อยุ่ในช่วง 3-4% ตามลำดับ นอกจากนี้ Goldman sachs ได้ประมาณการณ์ระดับดัชนีของตลาดหุ้นจีน ไต้หวัน และฮ่องกงในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 1,600 จุดมี upside อยู่ที่ 27.16% ส่วนไต้หวันมีดัชนีอยู่ที่ 1,100จุดมี upside อยู่ที่ 27.75% และฮ่องกงมีดัชนีอยู่ที่ 1,400จุดมี upside อยู่ที่ 28.45%

นายต่อ อินทวิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี กล่าวว่า โดยบลจ.จะเปิดขายหน่วยลงทุน กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เกรทเทอร์ ไชน่า ทริกเกอร์ 10% ระหว่างวันที่ 26 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2554 มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน ING (L) Invest Greater China ที่บริหารโดย ING Investment Management เน้นการลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม Greater China ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และ ไต้หวัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เกรทเทอร์ ไชน่า ทริกเกอร์ 10% จะกำหนดผลตอบแทนที่แน่นอนจากการลงทุน โดยเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 11.25 บาทต่อหน่วย ณ วันทำการใด กองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติทั้งหมดและนำเงินค่าขายคืนไปลงทุนต่อใน กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย แคช แมนเนจเม้นท์

อย่างไรก็ตาม กองทุนดังกล่าวเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในกองทุนต่างประเทศและมีความน่าสนใจ เช่น กลุ่มประเทศเกรทเทอร์ ไชน่า โดยการตั้งเป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่น่าพอใจ และเมื่อได้ผลตอบแทนที่ต้องการแล้ว สามารถหยุดความเสี่ยงด้วยการออกจากตลาดหุ้นดังกล่าวทันที โดยจุดเด่นของกองทุนนี้คือ การมุ่งเน้นผลตอบแทนที่ชัดเจน โดยกำหนดมูลค่าหน่วยลงทุนที่มากกว่าหรือเท่ากับ 11.25 บาทต่อหน่วย รวมถึงการมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยง (Currency Hedging) เพื่อลดความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาท ตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ซึ่งสอดรับกับปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น