xs
xsm
sm
md
lg

"ENGY"รั้งแชมป์ยิลด์สูงสุดกองหุ้น อานิสงส์เงินทุนไหลเข้ากลุ่มพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตพลังงานดันหุ้นน้ำมันวิ่ง กองทุนอีทีเอฟ "ENGY" ได้อานิสงส์ ผลังผลงานรอบไตรมาสแรกมาวิน จอดป้ายสูงสุดอันดับ 1 ด้วยผลตอบแทน 6.18% จับตาแนวโน้มไตรมาส 2 แม้สัญญาณเงินไหลเข้ายังมี แต่ความไม่แน่นอนมีสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาสการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ค่อนข้างผันผวนพอสมควร สือเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งยังคงยืดเยื้อ รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น และการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เอง ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกซึ่งเชื่อมโยงถึงตลาดหุ้นไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแกร่ง และการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่ยังต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังได้รับความสนใจจากเงินทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1 ม.ค. - 5 .เม.ย.) นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิแล้ว 14,791.14 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติถึง 15,368.49 ล้านบาทในช่วง 3 วันทำการของเดือนเมษายนนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงตลาดหุ้นไทยจะเห็นสัญญาณเงินไหลเข้าในช่วงต้นไตรมาส 2 แต่ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยกองทุนที่ให้ผลตอบแทนมาเป็นอันดับต้นๆ เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานเป็นหลัก เนื่องจากหุ้นกลุ่มนี้ได้รับอานิสงส์จากความกังวลเหตุการณ์ประท้วงในลิเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก รวมถึงวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นด้วย

โดยจากการเปิดเผยของลิเปอร์ถึงผลการดำเนินงานของกองทุนในช่วง 3 เดือนแรก พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย กองทุนเปิด MTRACK ENERGY ETF (ENGY) ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด โดยกองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 6.18% อันดับ 2 กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคปันผล ของบลจ.อยุธยา ด้วยผลตอบแทน 5.58% อันดับ 3 กองทุนเปิดอยุธยารักษ์ก้าวหน้า ของบลจ.อยุธยาเช่นกัน ด้วยผลตอบแทน 5.55%

อันดับ 4. กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี SET50 ของบลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ด้วยผลตอบแทน 4.67% อันดับ 5 กองทุนเปิดบัวหลวงธนคม ภายใต้การบริหารของบลจ.บัวหลวง ด้วยผลตอบแทน 4.39%

ในขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นอย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือแอลทีเอฟ ก็ออกมาอยู่ในระดับใล้เคียงกัน โดยกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย กองทุนเปิดเอคควิตี้โปร หุ้นระยะยาว ของบลจ.ซีมิโก้ โดยกองทุนให้ผลตอบแทนในรอบ 3 เดือนอยู่ที่ 5.14% อันดับ 2 กองทุนเปิด JUMBO 25 ปันผล ของบลจ.ทหารไทย ด้วยผลตอบแทน 4.25% อันดับ 3 กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว ของบลจ.บัวหลวง ด้วยผลตอบแทน 3.71% อันดับ 4 กองทุนเปิดแมกซ์ปันผลหุ้นระยะยาว ของบลจ.นครหลวงไทย ด้วยผลตอบแทน 3.7% และอันดับ 5 กองทุนเปิดทิสโก้หุ้นระยะยาว ของบลจ.ทิสโก้ ด้วยผลตอบแทน 3.64%

ทั้งนี้ ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกัน ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.36%

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงไตรมาส 2 นั้น นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund SuperMart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า แม้ว่าปัจจัยปัญหาหนี้ยุโรป ความวุ่นวายในตะวันออกกลาง รวมถึงสถานการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ระยะสั้นแนวโน้มหุ้นในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โดยกระแสเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคเป็นสัปดาห์ที่ 2 และคาดว่าจะยังคงไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระยะสั้นแนวโน้มเป็นขาขึ้น เรามอง SETI แนวต้านอยู่ที่ 1,100จุด เเละแนวรับที่ 1,040 จุด อย่างไรก็ตาม ระยะกลางแม้ว่าตลาดจะกลับมามีแนวโน้มที่ดี แต่เรายังคงกังวลต่อปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น ในระยะกลาง-ยาว ยังคงต้องระมัดระวังการลงทุนโดยจับตามองปัจจัยภายนอกอย่างใกล้ชิด

ด้านบลจ.แอสเซทพลัส รายงานแนวโน้มการปรับตัวของตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 2 ว่า การที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก และกระแสเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อสุทธิในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดการขายทำกำไร นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะปรับขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน และแนวโน้มการอ่อนค่าเงินเงินบาท อาจทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยปรับลดลง ในขณะที่ปัจจัยการลงทุนในต่างประเทศ เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และการครบกำหนดมาตรการผ่อนปรนทางการเงินของสหรัฐฯ (QE2) ในเดือน มิ.ย. อาจเป็นปัจจัยกดดันให้สภาพคล่องลดลงและส่งผลต่อภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้

ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยน่าจะสามารถปรับตัวขึ้นได้ถึง 1,150 จุด ซึ่งจะสอดคล้องกับมูลค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.5 เท่า แต่อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นในช่วงนี้ยังคงมีความผันผวน ดังนั้น ผู้ลงทุนควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น