xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นผันผวนฉุดยิลด์กองทุนติดลบ เอฟไอเอฟน้ำมันตีปีกรับราคาพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สำรวจผลงานกองทุนรอบ 2 เดือน หุ้นพลังงานมาแรงรับราคาน้ำมันโลกพุ่ง ดันผลตอบแทน "MTrack Energy ETF" มาวินอันดับหนึ่งกองทุนหุ้น ด้วยผลตอบแทน 1.74% เป็นบวกเพียงกองทุนเดียว ในขณะที่กองทุนเอฟไอเอฟ ไทยพาณิชย์ โชว์ผลงาน "ไทยพาณิชย์ แพลทตินัม โกลบอล ฟันด์" จอดป้ายยิลด์สูงสุด 13.67% ในขณะที่กองทุนน้ำมันเอง ตามมาอยู่ในกลุ่มอันดับต้นๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ค่อนข้างผันผวน ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นพอสมควร โดยภาพรวมของตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-1มี.ค.) นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิเป็นจำนวน 18,924.60 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนซึ่งรวมเงินปันผลแล้วยังติดลบอยู่ที่ 4.34% ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ความผันผวนของดัชนีทำให้บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ต้องปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงเพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนออกมาดี

ทั้งนี้ จากการสำรวจในเบื้องต้น พบว่ากองทุนที่ให้ผลตอบแทนออกมาในอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่เป็นกองทุนหุ้นที่ลงทุนในหุ้นบิ้กแคป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งได้อานิสงส์จากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์การประท้วงรัฐฐาลของประชาชนชาวลิเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก

โดยจากการเปิดเผยของลิปเปอร์ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด เป็นอันดับ 1 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ กองทุนเปิด MTrack Energy ETF ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.ทหารไทย ด้วยผลตอบแทนที่เป็นบวก 1.74% เพียงกองทุนเดียว อันดับ 2. กองทุนเปิดดัชนีธุรกิจพลังงานและธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ของบลจ. ฟินันซ่า ด้วยผลตอบแทน -1.36% อันดับ 3. กองทุนเปิดบัวหลวงร่วมทุน ของบลจ. บัวหลวง -1.72% อันดับ 4.กองทุนเปิดทรัพย์บัวหลวง ของบลจ. บัวหลวง -1.92% และอันดับ 5. กองทุนเปิดบัวแก้ว ของบลจ.บัวหลวงอีกหนึ่งกองทุน ด้วยผลตอบแทน -1.94%

ในขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ( FIF ) นั่น กองทุนที่ให้ผลตอบแทนในอันดับต้นๆ นั้น ถือว่าน่าสนใจทีเดียว โดยส่วนใหญ่ยังเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในน้ำมัน และหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นอันดับ 1 ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ แพลทตินัม โกลบอล ฟันด์ ของบลจ. ไทยพาณิชย์ ด้วยผลตอบแทนสูงสุดถึง 13.67%

อันดับ 2. กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ยูโร ไฮดิวิเดนด์ ของบลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ด้วยผลตอบแทน 10.97% อันดับ 3.กองทุนเปิด ทหารไทย ออยล์ ฟันด์ ของบลจ.ทหารไทย ด้วยผลตอบแทน 10.81% อันดับ 4. กองทุนเปิดรวงข้าวโกลบัล บาลานซ์ ของบลจ.กสิกรไทย ด้วยผลตอบแทน 10.57% อันดับ 5. กองทุนเปิด ทิสโก้ อากริคัลเจอร์ ยูโร ฟันด์ ของบลจ.ทิสโก้ ด้วยผลตอบแทน 10.53%

อันดับ 6. กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เอ็นเนอร์จี ฟันด์ ของบลจ.กรุงไทย ด้วยผลตอบแทน 10.23% อันดับ 7. กองทุนเปิด ซีมิโก้ ออยล์ แทรคกิ้ง ฟันด์ ของบลจ.ซีมิโก้ ด้วยผลตอบแทน 10.11% อันดับ 8. กองทุนเปิด กรุงไทย ออยล์ ฟันด์ ของบลจ.กรุงไทย ด้วยผลตอบแทน 9.38% อันดับ 9. กองทุนเปิด เค ออยล์ ของบลจ.กสิกรไทย ด้วยผลตอบแทน 9.21% และอันดับ 10. กองทุนเปิด ทิสโก้ ออยล์ ฟันด์ ของบลจ.ทิสโก้ ซึ่งให้ผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ 2 เดือนอยู่ที่ 8.7%

ก่อนหน้านี้ นายธนวัฒน์ รุ่งธนาภิรมย์ ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และจัดการกองทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลิเบีย บริษัทมีมุมมองว่าแนวโน้มราคาน้ำมันในระยะสั้นจะยังคงมีความผันผวนสูงสืบเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งหากเหตุการณ์ต่างๆยังทวีความรุนแรงก็อาจเป็นแรงผลักดันราคาน้ำมันขึ้นไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันมีโอกาสที่จะอ่อนตัวลง และเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับระดับ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล หากสถานการณ์มีความคลี่คลายขึ้น และอุปทานของน้ำมันที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากดังที่มีการคาดการไว้ ซึ่งหากแม้ว่าการผลิตน้ำมันทั้งหมดของลิเบียต้องหยุดชะงักลง การผลิตทั้งหมดของลิเบีย ก็นั้นคิดเป็นแค่ร้อยละ 2 ของกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น