xs
xsm
sm
md
lg

Kassetมองราคานม.ทะลุ$100/bl ชี้เหตุจลาจลในลิเบียเป็นตัวแปร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.กสิกรไทย คาดการณ์ราคาน้ำมันระยะสั้น มีลุ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่จะอ่อนตัวลง หากเหตุการณ์คลี่คลาย พร้อมระบุแม้ลิเบีย ผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 8 ของโลกต้องหยุดชะงักลง แต่มีสัดส่วนเพียง 2% ของกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกเท่านั้น ส่วนพอร์ต K-Oil ยังลงทุนเต็มที่

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยรายงานล่าสุดถึงผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียต่อราคาน้ำมันโลกว่า แม้สถานการณ์การประท้วงในอียิปต์จะคลี่คลายลงแล้ว แต่เหตุการณ์การประท้วงกลับลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน เช่น โมร็อคโค อัลจีเรีย จอร์แดน เยเมน และที่รุนแรงที่สุดคือ การประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศลิเบีย ที่เป็นประเทศที่มีความสำคัญในแง่การผลิตน้ำมันของโลก เนื่องจากลิเบียมีฐานะเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 1 ของ แอฟริกาเหนือ หรืออันดับ 3 ของทวีปแอฟริกา และผลิตน้ำมันได้ราววันละ 1.6 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของอุปทานน้ำมันโลก

ทั้งนี้ เหตุการณ์ในลิเบีย มีสาเหตุเบื้องต้นใกล้เคียงกันกับอียิปต์ คือประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการปกครองซึ่งอยู่ภายใต้การผูกขาดจากประธานาธิบดีมูอัมมาร์ กัดดาฟี ซึ่งปกครองประเทศมานานกว่า 40 ปี แต่กลับไม่สามารถทำให้ประชาชนในลิเบียส่วนใหญ่มีฐานะที่ดีขึ้นได้ แม้ว่าลิเบียจะสามารถผลิตน้ำมันได้มากเป็นอันดับ 8 ของโลกก็ตาม ทำให้เกิดความไม่พอใจ และมีการประท้วงเดินขบวนในเมืองสำคัญต่างๆทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความรุนแรงในลิเบีย แตกต่างจากอียิปต์เนื่องจากทางผู้นำประเทศและลูกชาย ต่างก็ประกาศกร้าวที่จะไม่ยอมลงจากตำแหน่ง และใช้มาตรการตอบโต้ผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีการประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,000 คน และยังมีแนวโน้มที่จะลุกลามขึ้นเป็นสงครามกลางเมืองด้วย

โดยผลจากความไม่สงบดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งในลิเบียซึ่งสามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวันต้องระงับการผลิตชั่วคราว และมีการคาดการว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติแห่งอื่นๆในลิเบียก็เตรียมการที่จะระงับการผลิตและอพยพพนักงานออกจากลิเบียเพิ่มเติม ส่งผลให้เกิดความวิตกกังกลเกี่ยวกับอุปทานของน้ำมันในลิเบียและในตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่เหนือระดับ 95 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าปัญหาการผลิตน้ำมันของลิเบียไม่น่าจะเป็นปัญญาในระยะยาว เนื่องจากมีการประกาศจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ว่าประเทศสมาชิก IEA จะพิจารณาเรื่องการนำน้ำมันในสต็อกสำรองฉุกเฉินซึ่งมีในคลังสำรองของประเทศสมาชิก OECD ราว 1.6 พันล้านบาร์เรลออกมาใช้หากเกิดปัญหาความขาดแคลน ทั้งนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ระดับสูงอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและในขณะที่ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ประกาศว่าพร้อมที่จะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นถ้าหากมีความจำเป็น

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์การประท้วงดังกล่าว ไม่ได้ลุกลามไปยังประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ ซึ่งมีฐานะร่ำรวย เช่น สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ คูเวต การ์ตาร์ หรือแม้กระทั่งซาอุดิอาระเบีย แต่กลับลุกลามไปเฉพาะประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากเท่านั้น เช่น โมร็อคโค อัลจีเรีย เยเมน เป็นต้น

นายธนวัฒน์ รุ่งธนาภิรมย์ ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และจัดการกองทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทมีมุมมองว่าแนวโน้มราคาน้ำมันในระยะสั้นจะยังคงมีความผันผวนสูงสืบเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งหากเหตุการณ์ต่างๆยังทวีความรุนแรงก็อาจเป็นแรงผลักดันราคาน้ำมันขึ้นไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันมีโอกาสที่จะอ่อนตัวลง และเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับระดับ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล หากสถานการณ์มีความคลี่คลายขึ้น และอุปทานของน้ำมันที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากดังที่มีการคาดการไว้ ซึ่งหากแม้ว่าการผลิตน้ำมันทั้งหมดของลิเบียต้องหยุดชะงักลง การผลิตทั้งหมดของลิเบีย ก็นั้นคิดเป็นแค่ร้อยละ 2 ของกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกเท่านั้น

ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนเปิด K- Oil ของบริษัทเอง ยังให้ให้น้ำหนักการลงทุนเต็มที่ในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลง ขณะเดียวกัน ยังคงกำหนดเพดานป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 90% อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น