บอร์ด กบง.ไฟเขียวชดเชยดีเซลเพิ่มอีก 50 สตางค์/ลิตร รวมเป็น 4 บาทต่อลิตร คาดกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเพิ่มเป็นเดือนละ 6,497 ล้านบาท หากแนวโน้มราคาน้ำมันยังพุ่งไม่หยุด ไม่เกิน 3 เดือน เกลี้ยงแน่ “หม่อมเต่า” คาดราคาน้ำมันจะยืนเหนือระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ได้ไม่นาน ปตท.สุดอั้น ขยับขึ้นราคา 50 สตางค์ ตามผู้ค้ารายอื่น
นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วานนี้ โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มการชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพื่อไม่ให้เกินเพดาน 30 บาทต่อลิตร โดยจ่ายชดเชยไบโอดีเซล บี3 เพิ่มอีก 50 สตางค์ต่อลิตร ทำให้ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซล บี3 ไปแล้ว 4 บาทต่อลิตร และทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 6,497 ล้านบาท จากเดิมติดลบเดือนละ 5,831 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ยังอนุมัติให้มีการขายน้ำมันไบโอดีเซล บี2 เกรดเดียวทั่วประเทศ แทนไบโอดีเซล บี3 ในวันที่ 1 มีนาคม 2554 นี้ เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ปาล์มน้ำมันจะกลับสู่ภาวะปกติ และจะกลับมาพิจารณาขายน้ำมันไบโอดีเซล บี3 หรือไบโอดีเซล บี5 เพียงเกรดเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ ยอดรวมของกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไปแล้ว 7,196 ล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ คาดว่าเงินสะสมกองทุนน้ำมันฯ ที่มีอยู่ประมาณ 22,849 ล้านบาท อาจจะหมดเกลี้ยงภายใน 3 เดือน
“ตอนนี้กลไกกองทุน เริ่มอ่อนลง เพราะเงินใกล้หมด เพราะหากยังฝืนใช้นโยบายนี้ต่อไป ก็จำเป็นต้องหามาตรการอื่นมาช่วย ซึ่งถ้ากองทุนเป็นศูนย์หรือติดลบ อนาคตก็ลำบาก เพราะต้องเก็บไว้ใช้อย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะให้กองทุนติดลบ เพราะสุดท้ายประชาชนต้องมารับภาระอยู่ดี”
ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นจากปัญหาความตึงเครียดในลิเบีย โดยน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 104.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 124.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 114.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่วันนี้ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิด “เบรนต์” เพื่อการส่งมอบเดือนเมษายน ทะยานขึ้นไป 8.54 ดอลลาร์ สู่ระดับแรงสุดที่ 119.79 ดอลลาร์ ก่อนจะถอยลงมาจนอยู่แถวๆ 114.00 ดอลลาร์ในเวลา 10.35 น.GMT (เวลามาตรฐานกรีนิช ซึ่งจะช้ากว่าเวลาเมืองไทย 7 ชั่วโมง) ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 29 เดือน โดยที่ราคาของน้ำมันชนิดนี้ เพิ่งกระโจนข้ามเส้น 110 ดอลลาร์ ในวันพุธ (23 ก.พ.)
สำหรับน้ำมันดิบ เวสต์ เทกซัส อินเตอร์มิเดียต (WTI) ของสหรัฐฯ เพื่อการส่งมอบเดือนเมษายนเช่นกัน ก็พุ่งไปถึงระดับ 103.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในวันพุธ อันเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2008 และอยู่แถวๆ 100.59 ดอลลาร์ ในเวลา 10.35 น.GMT วันพฤหัสบดี
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลกระทบความรุนแรงในตะวันออกกลาง โดยยอมรับว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากกระทบต่อราคาน้ำมัน ทำให้กำหนดเดิมจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ ที่นายกรัฐมนตรีจะทบทวนการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อชดเชยน้ำมันดีเซล ต้องเลื่อนออกไปเป็นสิ้นเดือนเมษายน 2554 เพราะต้องดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้กระทบกับทุกฝ่าย เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อต้นทุนการขนส่ง เพราะอาจทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
ด้าน หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันคงไม่ยอมให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไปสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นานมากนัก เพราะเกรงว่าผู้ใช้น้ำมันจะหันไปหาพลังงานทางเลือกมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะพยายามควบคุมราคาไว้ไม่ให้เกิน 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่ บริษัท ปตท.จำกัด ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ เพิ่มขึ้นลิตรละ 50 สตางค์ และน้ำมัน อี85 ลิตรละ 30 สตางค์ โดยมีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น.วันนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นราคาตามผู้ค้าน้ำมันรายอื่นที่ทยอยปรับขึ้นตั้งแต่เมื่อเวลา 05.00 น.วานนี้
ทั้งนี้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช้าวันนี้ เป็นดังนี้ น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ราคาลิตรละ 34.33 บาท น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ราคาลิตรละ 36.84 บาท แก๊ซโซฮอล์ อี20 ราคาลิตรละ 33.44 บาท แก๊ซโซฮอล์ อี85 ราคาลิตรละ 21.72 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันเบนซิน 91 ราคาลิตรละ 41.74 บาท
ส่วนบริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด (คาลเท็กซ์) ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีก 50 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ราคาดีเซลของผู้ค้าทั้ง 3 รายขึ้นไปแตะระดับ 30 บาต่อลิตร ขณะที่ คาลเท็กซ์ ได้ปรับขึ้นราคาเบนซินอีก 80 สตางค์ต่อลิตร ตั้งแต่เช้าวันนี้
สำหรับสาเหตุที่ผู้ค้าน้ำมันต้องปรับขึ้นราคาอีกครั้งติดต่อกัน เพราะค่าการตลาดขณะนี้ลดต่ำมากเหลือเพียง 30 สตางค์ต่อลิตร จากเกณฑ์เหมาะสมที่ต้องไม่ต่ำกว่า 1.50 บาทต่อลิตร โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกทุกตลาดปรับขึ้นแรง วันเดียว 7-8 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อนหลังตลาดวิตกกังวล ปัญหาประท้วงในลิเบีย และกองทุนเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) ยังเข้ามาซื้อน้ำมันเพื่อเก็งกำไรต่อเนื่อง