รบ.เร่งชิงฐานคะแนนนิยมรากหญ้า คืนกลับจากพรรค พท.กรมการค้าฯ จัดงานธงฟ้าร่วมใจช่วยไทยประหยัด ขายสินค้าราคาถูก หวังช่วยลดภาระค่าครองชีพ ปชช.เริ่มแล้ววันนี้ แนะจับตา “น้ำมันถั่วเหลือง” จ่อขยับขึ้นราคา มี.ค.นี้ ผู้ผลิตอ้างต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง ผู้บริโภคหนีปัญหาน้ำมันปาล์มแพง หันซื้อน้ำมันถั่วเหลืองแทน ส่งผลให้สินค้าขาดตลาด พณ.มั่นใจเข็นน้ำมันปาล์มล็อตใหม่ จุกสีชมพู ออกขายได้ 28 ก.พ.นี้ แน่นอน
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในจะจัดงานธงฟ้าร่วมใจช่วยไทยประหยัด เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อสินค้าราคาที่เป็นธรรม และประหยัด ได้จากผู้ผลิตโดยตรง
ภายในงานมีการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรคุณภาพดี ส่งตรงจากฟาร์มและโรงงานในราคาต่ำกว่าท้องตลาดร้อยละ 20-40 โดยสินค้าราคาพิเศษที่นำมาจำหน่าย ได้แก่ หมูเนื้อแดง ซี่โครงหมู ไข่ไก่ น้ำมันพืช และน้ำตาลทราย ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 (วันนี้) ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2554 ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.ณ ตลาดธนบุรี กรุงเทพมหานคร
นายวิชิต วิทยฐานกรณ์ นายกสมาคมน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองเตรียมเสนอกรมการค้าภายใน ขอปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันถั่วเหลืองขนาด 1 ลิตร ในเดือนมีนาคม 2554 นี้ เนื่องจากวัตถุดิบคือถั่วเหลือง ได้รับราคาจากตันละ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว เป็น 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนนี้ ทำให้ผู้ผลิต 4 ราย จากทั้งหมด 10 ราย ไม่สามารถผลิตน้ำมันถั่วเหลืองออกสู่ตลาดได้
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันปาล์มที่แพงกว่าน้ำมันถั่วเหลือง 1 บาท ผู้บริโภคจึงหันมาใช้น้ำมันถั่วเหลืองมากขึ้น ยิ่งทำให้น้ำมันประเภทนี้ขาดตลาดมากยิ่งขึ้น
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการกระจายน้ำมันปาล์มล็อตใหม่ โดยระบุว่า ในวันที่ 8 มีนาคม 2554 นี้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ จะหารือถึงความจำเป็นถึงความต้องการว่าจะนำเข้าน้ำมันปาล์มที่เหลืออีก 90,000 ตันอีกหรือไม่ เนื่องจากผลผลิตปาล์มในประเทศจะเริ่มออกมา ส่วนน้ำมันปาล์มจากผลผลิตในประเทศจำนวน 15,000 ตัน กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า จะเริ่มกระจายน้ำมันปาล์มฝาสีชมพู ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ เป็นต้นไป
ส่วนการจัดสรรโควตาน้ำมันปาล์มนำเข้า 30,000 ตัน ล็อตใหม่ให้กับ 10 บริษัทผู้ผลิตนั้น บริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) ได้รับโควต้ามากที่สุดคือ 6,000 ตัน รองลงมา ได้แก่ บริษัท ล่ำสูง จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำมันพืชปทุม และบริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม รายละ 4,000 ตัน