xs
xsm
sm
md
lg

กระทุ้งกนง.อย่ามองข้ามเงินเฟ้อ นักวิชาการนิด้าเห็นพ้องขึ้นดบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์นิด้า กระทุ้งกนง. อย่ามองข้ามเงินเฟ้อ แม้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบก็ตาม เหตุมีโอกาสขยับสูงขึ้นได้ ส่วนกระชุมดบ. วันนี้ เห็นพ้องขึ้นอีก 0.25%

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA (Executive Program Bangkok)สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ปัญหาที่น่ากังวลเป็นอย่างมากต่อภาวะทางเศรษฐกิจไทยในปี 2554 คือ ภาวะเงินเฟ้อ หรือการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของระดับราคา ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะของต้นทุนในภาคการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนอำนาจซื้อของประชาชนภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะนโยบายการปรับขึ้นระดับค่าจ้าง และค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งปัจจัยนี้ เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่เป็นแรงผลักดันให้ระดับราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

โดยปัจจุบัน ระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศนั้นอยู่ที่ร้อยละ 2.87 และระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.45 ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดที่ร้อยละ 0.5 - 3.0 ต่อปี แต่ก็มีทิศทางการเคลื่อนไหวที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการเคลื่อนไหวเช่นนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ควรมองข้าม

“หนึ่งในแนวทางแก้ไขตามนโยบายการเงินที่ได้มีการกำหนดไว้ ของ กนง. คือ การปรับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระดับราคานั้น มีความเหมาะสมที่จะปรับขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ปัจจัยด้านระดับอัตราดอกเบี้ย ค่อนข้างมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท แต่ในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทย มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทย (THB) ต่อดอลลาร์สหรัฐ (USD) ล่าสุดอยู่ที่ 30.6057 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (7 มี.ค 2554)” ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok นิด้า กล่าว

ดังนั้น หาก กนง. จะปรับขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 ในการประชุมครั้งนี้ ตามที่ได้เคยส่งสัญญาณไว้ จึงถือได้ว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมแล้ว เพราะผลกระทบต่อเนื่องจากการปรับขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ โดยเฉพาะเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่น่ากังวลมากนัก แต่ทั้งนี้ กนง. ยังควรจับตา และเข้าแทรกแซงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ให้คงเสถียรภาพเช่นนี้ต่อไป เพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของไทย

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด เปิดเผยภาวะและแนวโน้มของตลาดตราสารหนี้ไทยว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นในการประชุมวันที่ 9 มีนาคมนี้ กอปรกับผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 1 ปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยออกมาค่อนข้างสูง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย รับยอดเสนอซื้อเพียง 19,880 ล้านบาท ขณะที่พันธบัตรระยะปานกลางและระยะยาวอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงในกรอบแคบเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อออกมาใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้น่าจะยังคงผันผวนตามแรงซื้อขายเป็นหลัก โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ว่าจะมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างไร

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลผันผวนในกรอบแคบ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.00-0.08 อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 2-10 ปีเปลี่ยนแปลงร้อยละ -0.01 - +0.02 และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุมากกว่า 10 ปีเปลี่ยนแปลงร้อยละ -0.01 - +0.02 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างพันธบัตรอายุ 2 ปี กับ 10 ปี เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากร้อยละ 0.77 ในสัปดาห์ก่อน เป็นร้อยละ 0.78 ในสัปดาห์นี้

บลจ.ยูโอบี มองว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะราคาอาหารและพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปี 2554 นี้ โดยเฉพาะหากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยืดเยื้อออกไป จะทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย ซึ่งเศรษฐกิจมีการพึ่งพาน้ำมันค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของไทยยังคงเติบโตได้ดีในทุกภาคหมวดทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงมีอยู่จากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และปัญหาการเมืองในประเทศต่าง ๆ

ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 2.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงขึ้นร้อยละ 0.40 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีราคาอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 5.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.53 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงขึ้นร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น