ต้องยอมรับว่าปัญหาการชุนมุมประท้วงผู้นำของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะที่ลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 1 ของ แอฟริกาเหนือ หรืออันดับ 3 ของทวีปแอฟริกา และผลิตน้ำมันได้ราววันละ 1.6 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของอุปทานน้ำมันโลก
นอกจากปัจจัยเรื่องของการประท้วงแล้ว สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกกังวลอีกประเด็นก็คือ "อัตราเงินเฟ้อ" ที่มีทีท่าจะเร่งตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าตัวการสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภูมิภาคเอเชียนั้นก็คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือว่า เฟด ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง หรือ QE2 ที่ดำเนินการผ่านการซื้อพันธบัตรมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ โดยทยอยซื้อในสัดส่วน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2554 และยังไม่เป็นที่แน่ขัดว่าเฟดตะสามารถรักษาตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯที่ระดับ 2% ได้หรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ
สำรวจตัวเลขเงินเฟ้อ
สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยว่า เศรษฐกิจไทยยังจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 53 ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.8-4.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 2.8-3.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5-3.5% ทำให้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75-1% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2.25% เป็นอัตราดอกเบี้ยช่วงขาขึ้น
ส่วนของประเทศจีน นักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของจีนจะอยู่ที่ 5% แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตัวเลขเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าที่คาดประมาณ 4.9% ซึ่งที่ผ่านมาจีนได้ออกชุดมาตรการรับมือกับเงินเฟ้อ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยและสั่งการไปยังบรรดาธนาคารพาณิชย์ ให้ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ แต่การใช้มาตรการเหล่านั้น ด้านหนึ่งก็มีส่วนกระทบกับการเจริญเติบโตด้วย
ขณะที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงจอห์น เจิง จวิ้นหวา รัฐมนตรีคลังของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เผยว่า เศรษฐกิจแผ่นดินใหญ่และเอเชีย ที่เติบโตแข็งแกร่งมีส่วนหนุนให้เศรษฐกิจของฮ่องกงในปี2553 ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 และด้วยย่างก้าว ที่รวดเร็วเกินคาด โดยเศรษฐกิจฮ่องกงในปีที่แล้วโตถึงร้อยละ 6.8 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่4.0-5.0% อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของฮ่องกงยังเผชิญปัญหาท้าทาย ที่สำคัญอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งกำลังพุ่งสูงขึ้น โดยเงินเฟ้ออาจพุ่งถึง4.5% ในปีนี้ ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะโตถึง 5.0% นอกจากนั้น การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และแนวโน้ม ที่ราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ในโลกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อของฮ่องกง อีกด้วย
เกาหลีใต้เอง ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยน่าจะอยู่ที่ราว 4% อันเป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ การขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
อินเดีย นักวิเคราะห์หลายคนกำลังประเมินว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของอินเดียเริ่มส่งสัญญาณคลี่คลายจะเป็นปัจจัยบวก ส่งผลให้ธนาคารกลางอินเดียเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอ โดยคาดว่าในปีนี้ธนาคารกลางของอินเดียจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกเพียงครั้งเดียวที่อัตรา 0.25% เท่านั้น จาก 5.50% ไปเป็น 5.75% ในการประชุมเดือน มี.ค.54 หลังจากได้ปรับขึ้นมาโดยตลอดถึง 3.25% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลงทุนทองคำชนะเงินเฟ้อ
เริ่มกันที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจTMB มองว่า ในปีนี้ความเสี่ยงหลักที่นักลงทุนไทยต้องเผชิญ คือ แรงกดดันทางเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้มุมมองระยะสั้นของตลาดหุ้นในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นสำหรับสภาวะเช่นนี้ เรา มองว่าทองคำ ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพราะนอกจากสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีผลตอบแทนที่ดีภายใต้สภาวะความไม่สงบทางการเมืองล่าสุดราคาทองคำ แท่งในประเทศปรับตัวมาอยู่ที่บาทละ 20,150 บาท เมื่อเทียบกับราคาเมื่อต้นปี 2553 ที่ประมาณบาทละ 17,600 บาท คิดเป็นผลตอบแทน14.5%
ลงทุนตราสารหนี้สู้เงินเฟ้อ
สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund SuperMart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ เรามองว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการควบคุมเงินเฟ้อในประเทศ นักลงทุนที่กังวลในจุดดังกล่าว สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการกระจายการลงทุนมากกว่ากระจุกตัวอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง กองทุนตลาดเกิดใหม่ที่แนะนำยังคงเป็น ABGEM และ ABAPAC ของ บลจ. Aberdeen สำหรับตลาดจีน เรายังคงชื่นชอบการเติบโตที่แข็งแกร่งและโดดเด่นของจีนอยู่ ในแง่เงินเฟ้อ เราเชื่อว่าจะเห็นการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ในระยะสั้น ดัชนีเซี่ยงไฮ้ A-share ระยะสั้นกลับมาสู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง
โดยเราแนะนำเก็งกำไรกองทุน TMBCHEQ ของบลจ.ทหารไทย แต่ขอย้ำว่าการลงทุนในจีนเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงและไม่กลัวความผันผวนระยะสั้น สำหรับการลงทุนระยะยาวในกองทุนจีน ยังคงแนะนำ ABCG ของ Aberdeen ตามเดิม ส่วนตราสารหนี้เราก็ยังเน้นตลาดเกิดใหม่เช่นเดิม โดยกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศแนะนำเป็น TMB Global Bond Fund ของ บลจ.ทหารไทย โดยกองทุนหลัก (MasterFund) ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศยุโรปบางประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติหนี้ในกลุ่มยูโรโซน
ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบที่ขยายวงกว้างจากอียิปต์ไปสู่ประเทศอื่นๆในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการจัดการปัญหาเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเอเชียและตลาดเกิดใหม่เป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำทั้งในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้
เลือกหุ้นรับอานิสงค์เงินเฟ้อ
หลายคนมองว่าการลงทุนที่จะชนะเงินเฟ้อได้นั้นควรกระจายการลงทุนให้เหมาะสม โดยในส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงควรมีการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และเลือกลงทุนหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศเป็นต้นเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของการคัดเลือกหุ้นนั้นคงจะต้องเลือกกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพลังงาน อุตสหกรรมอาหาร และสินค้าเกษตร เป็นต้น