โบรกเกอร์กองทุนรวม มองทองคำได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากปัญหาจราจลในประเทศอียิปต์ แนะนักลงทุนทยอยเก็บสะสม NAV เพิ่มหากราคาอ่อนตัวในแนวรับ 1,340 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ พร้อมแนะหลีกเหลี่ยงหุ้นไทยไปก่อน
นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund SuperMart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า ระยะสั้น ทองคำกลับมาได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาปรับตัวดีขึ้นหลังจากช่วงก่อนหน้าเห็นการอ่อนตัวลงใกล้ระดับ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับที่เราได้แนะนำให้เข้าสะสมไปแล้วในสัปดาห์ก่อน โดยสัปดาห์ล่าสุดทองคำสปรับตัวขึ้นมาซื้อขายในกรอบ 1,331-1,348 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ เเละไม่อ่อนตัวกลับลงไป ทำให้คาดว่าการพักฐานในระยะสั้นได้สิ้นสุดลงและมีเเนวโน้มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งขณะที่ระยะกลาง-ยาวยังให้ภาพขาขึ้นไม่เปลี่ยนแปลง แนะนำเข้าสะสมเมื่อราคาอ่อนตัวมาใกล้ๆแนวรับที่ 1,340 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์
โดยกองทุนทองคำที่เเนะนำ ได้แก่ K-GOLD ของบลจ. กสิกรไทยเเละทางเลือกสำหรับกองทุนทองคำที่ไม่จ่ายปันผล แนะนำ ASP-GOLD ของบลจ. Asset Plus(ทั้งสองกองมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราเเลกเปลี่ยน) ส่วนราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูงจากปัญหาความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศอียิปต์ที่ยังไม่จบลงง่ายๆ แต่ภาพรวมทางเทคนิคยังไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาน้ำมันยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 84-94 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จึงยังคงคำแนะนำเดิมคือ ขึ้นขาย-ลงซื้อ ตามกรอบที่ให้ไว้
อย่างไรก็ตามปัญหาในอียิปต์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเวลาอันใกล้ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะสร้างผลกระทบต่อประเทศอื่นๆโดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญ ช่วยหนุนราคาน้ำมันและกระตุ้นการเข้าหาทองคำ ทำให้น้ำมัน Nymex ยังทรงตัวได้ในระดับสูงที่ 89.03ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล (-0.35%) และทองคำปิดบวกที่ 1,346.90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ (+0.91%)นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจาก Dollar Index ที่อ่อนค่าลงราว 0.19% ใน สัปดาห์ที่ผ่านมา
นายสานุพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะผันผวนตามข่าวปัญหาชายแดนกัมพูชาและประเด็นทางการเมือง และแม้ตลาดหุ้นดูจะปรับตัวได้ดีขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วและเห็นการกลับเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติ แต่เรายังไม่เห็นสัญญาณการกลับเข้าซื้ออย่างจริงจัง จึงยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้เนื่องจากมองว่าตลาดยังคงมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลงได้ต่อ สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนใน LTF และต้องการลดขาดทุนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น ยังคงแนะนำต่อจากสัปดาห์ที่แล้วคือให้หาจังหวะสับเปลี่ยนเข้าไปยังกองทุน LTF ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าปกติอย่างกองทุน 1SMART-LTF ของ บลจ. วรรณ และ กองทุน KSDLTF (K Strategic Defensive LTF) ของ บลจ. กสิกรไทย
ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศในแง่ของการเป็นแหล่งลงทุนระยะยาว เรายังคงชื่นชอบตลาดในฝั่งเอเชียและตลาดเกิดใหม่มากกว่ากลุ่มพัฒนาเเล้ว ถึงแม้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ แต่เรามองว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่มีปัญหาดังกล่าว เพราะเท่าที่ผ่านมาก็เห็นความพยามในการชะลอเงินเฟ้อผ่านนโยบายคุมเข้มต่างๆในหลายๆประเทศ มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่นักลงทุนดูจะเป็นกังวลอย่างมาก เช่น อินโดนีเซีย แต่ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซียก็ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกแล้ว โดยปรับขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 6.75% ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันทำให้แต่ละประเทศมีความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อมากน้อยต่างกันไป
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงดังกล่าว แนะนำให้กระจายการลงทุนมากกว่ากระจุกตัวในประเทศใดประเทศหนึ่ง กองทุนที่แนะนำได้แก่ ABGEM และ ABAPAC ของบลจ. Aberdeen แต่สำหรับนักลงทุนที่ไม่กลัวความผันผวนและต้องการลงทุนในจีนเป็นหลัก เราแนะนำABCG (Aberdeen China Gateway Fund) ทั้งนี้ การที่กองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารที่ดำเนินธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่น้อยจึงได้รับผลกระทบจากนโยบายคุมเข้มทางการเงินและการควบคุมสินเชื่อไม่มากนัก สำหรับกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศแนะนำเป็น TMB GlobalBond Fund ของบลจ.ทหารไทย
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้นั้นหลังจากสัปดาห์ก่อนเห็นการปรับเพิ่มขึ้นของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเกือบทุกช่วงอายุ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เส้นอัตราผลตอบแทนแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงและถูกกดดันจากแรงซื้อของกองทุนในประเทศ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นอายุ 3เดือน ส่งให้อัตราผลตอบแทนปรับลง -3bp และพันธบัตรระยะ 5-6 ปีเปลี่ยนแปลง -3ถึง -1bp โดยรวม คาดว่าเส้นอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อตามทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น เเต่ระยะสั้นอาจถูกกดดันจากความผันผวนในตลาดโลกและ ปัญหาในไทยเองเกี่ยวกับประเด็นชายแดนกัมพูชาที่อาจกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าหาพันธบัตรซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยกว่าตลาดหุ้น