“หม่อมเต่า” เผย ปี 54 ธปท.หวังดึงบาทอ่อนช่วยอุ้มส่งออก ชี้ ปรับดอกเบี้ยขึ้นแก้เกมเงินเฟ้อสูง เตือน การเมืองไม่นิ่งปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ขณะที่ ตลท.ปลอบใจนักลงทุน ต่างชาติเทขายหุ้นไทยไม่มาก มั่นใจ ธปท.คุมเงินเฟ้ออยู่ ส่วนการเมืองทำบรรยากาศลงทุนไม่คึกคัก
วันนี้ (26 ม.ค.) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนนโยบายการดำเนินงานด้านการเงินของ ธปท.ในปีนี้ จะพยายามดำเนินนโยบายเอื้อต่อการอ่อนค่าของเงินบาทมากกว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยปรับวิธีการในการเข้าลดความผันผวน หรือแทรกแซงค่าเงินบาทในกรณีอ่อนค่าให้ช้าลงจากเดิม ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ธปท.กำหนดอัตราการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่จะเข้าแทรกแซงเท่ากัน ทั้งกรณีเงินบาทแข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่า
“เดิมเราบาลานซ์การเข้าแทรกแซง 2 ข้างเท่ากัน เช่น หากบาทแข็งขึ้นเร็ว และแข็งค่าไปถึงระดับที่เรากำหนด ธปท.จะเข้าแทรกแซงเพื่อลดความผันผวนทันที หรือช่วงที่บาทอ่อนค่าเร็วเราก็เข้าแทรกแซงลดความผันผวนเมื่ออัตราที่กำหนดเท่ากัน แต่ในขณะนี้ ถ้าบาทแข็งเราอาจจะเข้าเร็ว แต่ถ้าบาทอ่อนเราอาจจะไม่เข้าหรือเข้าช้าลงเมื่อเห็นว่าเหมาะสม” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว
ประธาน ธปท.กล่าวอีกว่า ตอนนี้เริ่มเห็นค่าบาทอ่อนค่าลงแล้ว และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า จะช่วยในเรื่องการส่งออกของประเทศได้ดีกว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่า เพราะเท่าที่พิจารณาความสามารถในการเติบโตของอุปสงค์ระหว่างจากภาคการส่งออก และภาคการใช้จ่ายในประเทศ กำลังซื้อของภาคการส่งออกมีมากกว่าการใช้จ่ายในประเทศที่มีกำลังซื้อจำกัด นอกจากนั้น การทำให้ภาคส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ยังช่วยในเรื่องการจ้างงาน และรายได้ของลูกจ้างในประเทศด้วย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวปีนี้ได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ข้อน่าเป็นห่วงของอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง จากปริมาณเงินที่มากขึ้น นอกเหนือจากแรงกดดันเงินเฟ้ออื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้วในปีนี้ ซึ่ง ธปท.ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อกดให้เงินเฟ้อต่ำลง เพราะถ้าเราพิจารณาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ ที่อัตราเงินเฟ้อสูง เมื่อถึงที่สุดแล้วการขยายตัวของเศรษฐกิจของเขาก็ไปไม่รอด
“เงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อจากนี้ ไม่ว่าจะมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ไม่ดีทั้งสองอย่าง ธปท.จึงจำเป็นที่จะต้องดึงเงินเฟ้อให้ต่ำลง ซึ่งทำให้อาจจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก แต่ในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ จะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจกลับมาอยู่ในระดับสูง และมีความยั่งยืนได้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง” ประธาน ธปท.กล่าว
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวต่อว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เริ่มมีสูงขึ้น เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญของประเทศไทย และเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพราะทุกฝ่ายต่างยังต้องการที่จะบรรลุความต้องการ และอุดมการณ์ของตัวเองเป็นสำคัญ
ขณะที่ นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกกับการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนัก เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา เพราะจากนี้เป็นต้นไปแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติคงมีไม่มากนักอย่างที่หลายฝ่ายกลัว
นายชนิตร กล่าวว่า ขณะนี้ต่างชาติยังเหลือส่วนต่างในการขายอีกไม่มาก เห็นได้จากยอดซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2553-5 มกราคม 2554 หรือหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มีมูลค่ารวม 100,000 ล้านบาท และในช่วงต้นปี 2553 นักลงทุนต่างชาติได้เทขายสุทธิ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีรายการซื้อขายบนกระดานรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) ให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจหุ้น 4 ตัว รวมมูลค่า 47,000 ล้านบาท
“การที่หุ้นไทยปรับลดลงอย่างหนักเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา มองว่า มีสาเหตุจากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก ไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงจากความวิตกกังวลเรื่องเงินเฟ้อแต่อย่างใด เนื่องจากเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสามารถควบคุมดูแลได้เป็นอย่างดี ประกอบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคได้ปรับลงอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า แต่ตลาดหุ้นไทยเพิ่งปรับลดลง จึงไม่อยากให้นักลงทุนตกใจมากนัก เพราะเป็นการลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ในดัชนีเอ็มเอสซีไอของต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองที่มีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวล หากยังมีการออกมาชุมนุมเป็นระยะๆ โดยหวังว่าการชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบ” นายชนิตร กล่าว