xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องน่ารู้...กับกองทุนบำนาญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"กองทุนบำนาญที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในโลกคือกองทุนบำนาญของประเทศญี่ปุ่น มีสินทรัพย์มากถึง 936 พันล้านดอลล่าร์ ประมาณ 30 ล้านล้านบาท หรือ 3 เท่าของจีดีพีประเทศไทย อันดับที่สองคือกองทุนบำนาญของนอร์เวย์ซึ่งมีสินทรัพย์ 286 พันล้านดอลล่าร์ อันดับที่สามคือกองทุนบำนาญ ABP ของเนเธอร์แลนด์ มีสินทรัพย์ 274 พันล้านดอลล่าร์ ส่วนกองทุนชื่อดังอย่าง California Public Employees' Retirement System หรือ CalPERS ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญของเจ้าหน้าที่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย มาเป็นอันดับ 4 มีสินทรัพย์ 218 พันล้านดอลล่าร์”


ในตอนที่ผ่านมา ได้ปูพื้นภาพรวมระบบการออมต่าง ๆ ในประเทศไทยไปพอสมควรแล้ว คราวนี้เรามาเจาะลึกการออมต่างๆ โดยเริ่มจากกองทุนบำนาญกันก่อน

กองทุนบำนาญคืออะไร

กองทุนบำนาญเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นสำหรับสมาชิกเพื่อให้สมาชิกได้ออมเงินในขณะที่ยังมีงานทำและมีรายได้ เพื่อให้มีเงินบำเหน็จหรือบำนาญในวัยเกษียณ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ กองทุนบำนาญจึงมีบทบาทสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่กำลังจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้ออมเงินด้วยตนเองเพื่อให้มีบำนาญสำหรับตนเองในอนาคต
 
กองทุนบำนาญมีรูปแบบใดบ้าง กองทุนบำนาญทั่วโลกแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ คือ

1. กองทุนแบบกำหนดประโยชน์ทดแทน (Defined Benefit หรือ DB) เป็นกองทุนที่กำหนดสูตรบำนาญที่สมาชิกจะได้รับ โดยสมาชิกแต่ละคนจะได้รับบำนาญมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบและรายได้ โดยผู้บริหารกองทุน (เรียกว่า Plan Sponsor) มีภาระหน้าที่และต้องรับความเสี่ยงในการจัดหาเงินมาให้พอจ่ายบำนาญ ในหลายประเทศทั่วโลกใช้กองทุนรูปแบบนี้กับระบบบำนาญภาคบังคับที่วางไว้ให้เป็นการดูแลขั้นพื้นฐาน ซึ่งตามโมเดลของธนาคารโลกใช้คำว่า เสาหลักแรก (Pillar I) เพื่อการกระจายรายได้และเพื่อขจัดความยากจน รวมทั้งเพื่อลดภาระของรัฐในการดูแลผู้สูงอายุ

ตัวอย่างของกองทุนแบบ DB ในประเทศไทยก็คือ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ซึ่งกำหนดสูตรเงินบำนาญไว้ว่า สมาชิกหรือผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปีขึ้นไป เกษียณจากการทำงาน และสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 180 เดือน มีสิทธิรับ “บำนาญ” เท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (คำนวนจากรายได้ขั้นต่ำ 1,650 บาท และไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน) หากสมทบเกินกว่า 15 ปี ทุกๆ ปีที่สมทบเพิ่ม จะได้รับบำนาญส่วนเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เช่น ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาทและสมทบเป็นเวลา 30 ปี จะได้รับบำนาญเท่ากับ (20% x 15,000) + (1.5% x 15 ปีที่สมทบเพิ่ม x 15,000) = 3,000 + 3,375 = 6,375 บาทต่อเดือน โดยรับเป็นรายเดือนเดือนละ 6,375 บาท ตลอดชีวิต

ผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปีขึ้นไป เกษียณจากการทำงาน และสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือนแต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับ** “บำเหน็จ”** เป็นเงินก้อนเท่ากับเงินสมทบของตนเองและนายจ้างที่สะสมไว้ก่อนเกษียณ บวกดอกผลจากการลงทุน เงินที่จะเอามาจ่ายเป็นบำเหน็จและบำนาญนี้มาจากเงินสมทบของผู้ประกันตนร้อยละ 3 ของเงินเดือน รวมกับของนายจ้างอีกร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 6 ต่อเดือน

นอกจากนี้ บำเหน็จและบำนาญของข้าราชการที่จ่ายโดยกรมบัญชีกลางก็อาจถือได้ว่าเป็นบำนาญแบบ Defined Benefit เช่นกัน แต่เป็นแบบที่เรียกว่า pay as you go คือไม่ได้จัดเก็บเงินสมทบไว้แต่แรก รัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาจ่ายก็ต่อเมื่อข้าราชการเกษียณ

2. กองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution หรือ DC) เป็นกองทุนที่กำหนดเงินสมทบที่สมาชิกและนายจ้างจะต้องจ่ายเข้ากองทุนในแต่ละเดือน แต่ไม่กำหนดว่าเมื่อเกษียณจะได้รับเงินคืนเท่าไร โดยส่วนใหญ่สมาชิกกองทุนบำนาญแบบ DC เมื่อเกษียณจะได้รับบำเหน็จเป็นเงินก้อน เท่ากับส่วนที่ตนเองสมทบบวกส่วนที่นายจ้างสมทบและดอกผลจากการลงทุน

กองทุนแบบ DC มีการแยกบัญชีเงินออมของสมาชิกแต่ละคน (ต่างจากกองทุนแบบ DB ที่นำเงินสมทบมากองรวมกัน เมื่อเกษียณก็จะได้รับเงินบำนาญที่จ่ายจากเงินกองกลาง) ในหลายประเทศใช้กองทุนแบบ DC นี้กับระบบบำนาญที่ต่อยอดจากบำนาญขั้นพื้นฐาน ซึ่งเรียกกันว่า เสาหลักที่สอง (Pillar II) และเสาหลักที่สาม (Pillar III) ลักษณะที่สำคัญของกองทุนแบบ DC คือสมาชิกกองทุนเป็นผู้รับความเสี่ยงหากการบริหารกองทุนล้มเหลวหรือขาดทุน จนทำให้เงินออมในบัญชีของตนเองสูญหายไปและไม่มีเงินบำเหน็จพอใช้เมื่อเกษียณ

ตัวอย่างของกองทุนแบบ DC ในประเทศไทยคือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการ (ในฐานะลูกจ้าง) จ่าย “เงินสะสม” เข้ากองทุนร้อยละ 3 ต่อเดือน และให้รัฐบาล (ในฐานะนายจ้าง) จ่าย“เงินสมทบ” เข้ากองทุนร้อยละ 3 ต่อเดือน เมื่อเกษียณ ข้าราชการจะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อนเท่ากับเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวจาก กบข. (ในบางกรณีอาจจะได้เงินชดเชยและเงินประเดิมเพิ่มเติมด้วย)โปรดสังเกตว่า ข้าราชการยังคงได้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามสิทธิจากกรมบัญชีกลาง แต่เงินที่สะสมกับกบข. เป็นเงินออมส่วนเพิ่มที่ข้าราชการจะได้รับกลับคืนไปเป็นเงินก้อนเมื่อเกษียณ
นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยภาคเอกชนเพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงานก็จัดว่าเป็นกองทุนบำนาญแบบ DC คือ ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" เมื่อเกษียณก็จะได้รับบำเหน็จเป็นเงินก้อน จำนวนเท่ากับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว

ณ สิ้นปี 2552 กองทุนบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยมียอดเงินออมรวมกันประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ประมาณ 532,800 ล้านบาท

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประมาณ 335,600 ล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประมาณ 514,500 ล้านบาท

นอกจากกองทุนบำนาญสำคัญของไทยแล้ว เราลองมาดูกองทุนบำนาญของโลกกันบ้าง จากการสำรวจของ Watson Wyatt กองทุนบำนาญทั่วโลกมีเงินลงทุนรวมกัน ณ สิ้นปี 2006 จำนวน 10,429 พันล้านดอลล่าร์ ประมาณ 334 ล้านล้านบาท โดยกองทุนบำนาญของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนมากที่สุดคือ 45% ตามด้วยญี่ปุ่น (18%) อังกฤษ (7%) เนเธอร์แลนด์ (6%) และแคนาดา (5%)

กองทุนบำนาญที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในโลกคือกองทุนบำนาญของประเทศญี่ปุ่น มีสินทรัพย์มากถึง 936 พันล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท หรือ 3 เท่าของจีดีพีประเทศไทย) อันดับที่สองคือกองทุนบำนาญของนอร์เวย์ซึ่งมีสินทรัพย์ 286 พันล้านดอลล่าร์ อันดับที่สามคือกองทุนบำนาญ ABP ของเนเธอร์แลนด์ มีสินทรัพย์ 274 พันล้านดอลล่าร์ ส่วนกองทุนชื่อดังอย่าง California Public Employees' Retirement System หรือ CalPERS ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญของเจ้าหน้าที่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย มาเป็นอันดับ 4 มีสินทรัพย์ 218 พันล้านดอลล่าร์ เมื่อเทียบขนาดกองทุน จะเห็นได้ว่ากองทุนบำนาญของไทยมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่า 532,000 ล้านบาท หรือประมาณ 16 พันล้านดอลล่าร์ นั้น มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 10 ของกองทุน CalPERS เท่านั้นเอง

ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หากท่านมี ข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.

ที่มา : วิน พรหมแพทย์ สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น