xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักระบบการออมในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ คนไทยมีเงินออมเพื่อเกษียณรวมกันประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของ GDP ระบบการออมทั้งหมดข้างต้น นอกจากจะถูกออกแบบไว้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในขณะที่ยังมีรายได้ เพื่อให้มีเงินใช้ในยามเกษียณแล้ว ยังมีลักษณะคล้ายกันอีกอย่างหนึ่งคือ เงินที่ออมหรือสะสมเข้ากองทุนต่างๆ เหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษี และเมื่อเกษียณ ผลประโยชน์ที่ได้รับก็ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน”

ต่อกันในสัปดาห์ที่ผ่านมากับเรื่องราวของการออมเงินในวัยเกษียณอายุ เพื่อให้ท่านเห็นภาพรวมของระบบการออมในประเทศไทยว่ามีอะไรบ้าง และเป็นการสำรวจตัวท่านเองไปด้วยว่าท่านมีระบบการออมรองรับแล้วหรือไม่ ก่อนที่เราจะมาเจาะลึกรายละเอียดการออมในกองทุนต่างๆ ต่อไป

1. การออมภาคบังคับ ประกอบด้วย

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ครอบคลุมสมาชิกที่เป็นข้าราชการจำนวนประมาณ 1.1 ล้านคน และมีเงินสะสมประมาณ 335,600 ล้านบาท ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. จะถูกหักเงินสะสม 3% ของเงินเดือน รัฐบาล ในฐานะนายจ้าง จ่ายเงินสมทบให้อีก 3% รวมเป็น 6% เมื่อเกษียณจะได้รับ **“บำเหน็จ” **เป็นเงินก้อนจาก กบข. เท่ากับเงินสะสมและเงินสมทบข้างต้น บวกดอกผลจากการลงทุน ในบางกรณีอาจจะได้เงินชดเชยและเงินประเดิมเพิ่มเติมด้วย

กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ครอบคลุมสมาชิกที่เป็นลูกจ้างในภาคเอกชน จำนวนประมาณ 9.18 ล้านคน มีเงินสะสมประมาณ 532,800 ล้านบาท ลูกจ้างจะถูกหักเงินสมทบ 3% ของเงินเดือน (เงินเดือนขั้นต่ำ 1,650 บาท - ขั้นสูง 15,000 บาท) นายจ้างสมทบให้อีก 3% รวมเป็น 6% เมื่อเกษียณ หากสมทบมากกว่า 1 ปีแต่ไม่ครบ 15 ปี จะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อนเท่ากับเงินสมทบของตนเองและของนายจ้างที่สะสมไว้บวกดอกผลจากการลงทุน หากสมทบตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะได้รับ “บำนาญ” จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต

จะสังเกตได้ว่า จากจำนวนกำลังแรงงาน 35 ล้านคนนั้น มีผู้ที่อยู่ในระบบการออมภาคบังคับประมาณ 10 ล้านคน คือข้าราชการและลูกจ้างในภาคเอกชน เรียกกันว่าเป็นแรงงานในระบบ (Formal Sector)

2. การออมภาคสมัครใจ มีไว้เพื่อรองรับผู้ที่ยังไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณภาคบังคับ แรงงานนอกระบบ (Informal Sector) หรือมีสวัสดิการดังกล่าว แต่ต้องการออมเพิ่มเติม ประกอบด้วย

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ครอบคลุมสมาชิกที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างในภาคเอกชนจำนวนประมาณ 2 ล้านคน มีเงินสะสมประมาณ 514,500 ล้านบาท โดยลูกจ้างสมัครใจให้หัก "เงินสะสม" และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" เมื่อเกษียณจะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อน เท่ากับเงินสะสมและเงินสมทบข้างต้น บวกดอกผลจากการลงทุน

การซื้อประกันชีวิต ปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีผลบังคับจำนวน 12 ล้านฉบับ อาจจะอนุโลมได้ว่ามีผู้เอาประกันประมาณ 10 – 12 ล้านคน มียอดเงินออมที่เกิดจากการซื้อประกันชีวิตประมาณ 976,600 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากเงินลงทุนของบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทในระบบ ดังนั้นการซื้อประกันชีวิตเป็นการส่งเสริมให้ผู้ซื้อกรมธรรม์ออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ โดยมีการกำหนดให้ผู้เอาประกันต้องจ่ายเบื้ยประกันตามระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นสามารถหยุดส่งเบี้ยประกัน โดยได้รับความคุ้มครองชีวิตต่อไปและทยอยได้รับเงินคืนในอนาคต สามารถเลือกแบบกรมธรรม์ที่จ่ายผลประโยชน์เมื่ออายุถึงวัยเกษียณได้

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่มีข้อแม้ว่า (1) ต้องสะสมเงินอย่างต่อเนื่องโดยซื้อหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง (2) ต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า (3) ต้องไม่หยุดซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน และ (4) ขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อผู้ลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ณ สิ้นปี 2552 มียอดเงินออมในกองทุน RMF ประมาณ 58,000 ล้านบาท

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund หรือ LTF) เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาว ถึงแม้ว่า LTF จะไม่มีข้อบังคับเรื่องอายุ 55 ปีเหมือน RMF แต่การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระยะยาวก็ทำให้ถือได้ว่า LTF เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการออมเพื่อเกษียณเช่นเดียวกัน โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่มีข้อแม้ว่า (1) ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน และ (2) สามารถลงทุนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ในแต่ละปี แต่ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ณ สิ้นปี 2552 มียอดเงินออมในกองทุน LTF ประมาณ 85,000 ล้านบาท

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่า คนไทยมีเงินออมเพื่อเกษียณรวมกันประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ระบบการออมทั้งหมดข้างต้น นอกจากจะถูกออกแบบไว้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในขณะที่ยังมีรายได้ เพื่อให้มีเงินใช้ในยามเกษียณแล้ว ยังมีลักษณะคล้ายกันอีกอย่างหนึ่งคือ เงินที่ออมหรือสะสมเข้ากองทุนต่างๆ เหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษี (อาจจะมีเพดานในบางกรณี) และเมื่อเกษียณ ผลประโยชน์ที่ได้รับก็ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน
 
ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพรวมของระบบการออมเพื่อวัยเกษียณที่มีในประเทศไทยแล้ว ในคราวต่อๆ ไป เราจะมาเจาะลึกเพื่อทำความรู้จักกับการออมแต่ละแบบ รวมทั้งเคล็ดลับต่างๆ เพื่อช่วยให้ท่านได้ออมเงินเสียแต่วันนี้เพื่อจะได้เกษียณอย่างสบาย

ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หากท่านมี ข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.

ที่มา : วิน พรหมแพทย์ สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น