xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมบลจ.ผลักดันรัฐเร่งคลอดกบช. พร้อมเสนอตั้งหน่วยงานเดียวกำหนดนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สมาคมบลจ. เดินหน้าผลักดันภาครัฐ เร่งจัดตั้ง "กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ" ใช้เป็นแหล่งเงินออมสำหรับการเกษียณอายุ ตามสากลโลก พร้อมเสนอรัฐบาล จัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการออม เพียงหน่วยงานเดียว เน้นประสิทธิภาพและเกิดความสอดคล้องกันในระยะยาว

นางสาวอารยา ธีระโกเมน อุปนายกสมาคมและประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ในปีนี้สมาคมมีนโยบายที่จะผลักดันการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อให้เป็นแหล่งเงินออมสำหรับการเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานที่ยังอยู่นอกระบบ โดยปัจจุบันแนวคิดโครงสร้างระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุที่จัดให้มีกันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ระดับชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 หรือ Pillar I เป็นการอออเพื่อการเกษียณอายุแบบสมัครใจ ระบบ Defined Contribution หรือกำหนดการจ่ายเข้ากองทุน ซึ่งในประเทศไทยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจของนายจ้าง กองทุนประเภทนี้มีการจัดตั้งโดยออกเป็นกฎหมายในปี 2530 เป็นกองทุนที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้น โดยจ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือนในอัตรา 2-15% ของค่าจ้าง ปัจจุบันมีลูกจ้างประมาณ 2 ล้านคนที่เป็นสมาชิกกองทุน

ขั้นที่ 2 หรือ Pillar II เป็นโครงการออมเพื่อการเกษียณอายุแบบบังคับระบบ Defined Contribution ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของภาครัฐ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 โดยมีกฏหมายเฉพาะ เพื่อนำมาใช้แทนระบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญเดิม ซึ่งข้าราชการต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือนและนายจ้าง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะจ่ายสมทบให้อีกในอัตราเดียวกัน และในปีที่ผ่านมาได้เปิดโอกาศให้สมาชิก กบข. สามารถเลือกสะสมเพิ่มจากอัตราดังกล่าวได้อีกตั้งแต่ร้อยละ 1.12 ปัจจุบันมีข้าราชการที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนกบข. ประมาณ 1.2 ล้านคน


ขั้นที่ 3 หรือ Pillar III คือโครงการบำเหน็จบำนาญแบบบังคับระบบ Defined Benefit ซึ่งปัจจุบันคือ กองทุนประกันสังคม ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะเมื่อปี 2533 มีความคุ้มครองกรณีชราภาพ คุ้มครองความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ฯลฯ โดยกรณีดังกล่าว นายจ้าง ลูกจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือนฝ่ายละ 3% ของค่าจ้างปัจจุบัน โดยมีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนอยู่ราว 9 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมยังคงมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศที่มีอยู่ราว 36 ล้านคน ดังนั้นเพื่อให้เกิดการออมอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมผู้ประกอบการอาชีพอิสระหรือเป็นเจ้าของกิจการซึ่งเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้างในตัวเองและไม่เข้ากับระบบกองทุนทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่มาของการเสนอให้จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการออมเพื่อการเกษียณอายุภาคบังคับ ขั้นที่ 2 (Piliar 2) ซึ่งมีระบบบัญชีเป็นรายบุคคล โดยสมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ตามบัญชีของตนเองเมื่อครบเกษียณอายุ ซึ่งจะช่วยสร้างระดับรายได้ที่เพียงพอ ลดปัญหาหนี้สินและภาระในอนาคตของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมหาศาลหากผู้เกษียณไม่ออมตั้งแต่วัยทำงาน


ประธานกลุ่มธรุกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนบำเห็จบำนาญแห่งชาติโดยเร็วแล้ว สมาคมยังอยากนำเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการออมเพื่อเกษียณอายุเพียงหน่วยงานเดียวด้วย

ทั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่กำหนดทิศทางของระบบการออมเพื่อการเษียณอายุในภาพรวมของประเทศ และเชื่อมโยงระบบการออมชั้นต่างๆ และฐานข้อมูลเข้าหากัน อันจะทำให้การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ของการออมเพื่อเกษียณอายุสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความสอดคล้องกันในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น