xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 22 เรื่อง : ระบบบำเหน็จบำนาญของสากล (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุอย่างมีความมั่นคงและมีความสุข เป็นเรื่องที่ทุกคนใฝ่ฝันไว้เสมอว่า แก่แล้วไม่อยากลำบาก ตลอดชีวิตเหนื่อยมาตลอดขอเวลาตอนแก่ให้สบาย ๆ บ้างน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นที่ต้องการจริง ๆ โดยที่ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการจะเกษียณแบบเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี เพียงแต่ขอให้มีชีวิตที่เป็นสุขมีเงินใช้จ่ายอย่างเหมาะสม รักษาตัวได้ในยามป่วยไข้ ไม่สร้างภาระให้กับใครแต่อย่างใด และโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ถ้าสนใจติดตามข่าวสารบ้างจะเห็นเรื่องของการจะริเริ่มจัดตั้งระบบบำเหน็จบำนาญต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อให้คนทำงานทุกคนออมเงินส่วนหนึ่งในวันนี้ เพื่อเอาไปดูแลตัวเองในตอนไม่มีเงินเดือนแล้ว

ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจเรื่องระบบการออมเพื่อการเกษียณหรือระบบบำเหน็จบำนาญ กัน โดยเฉพาะก่อนที่การปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญจะเกิดขึ้นนั้น ระบบบำเหน็จบำนาญแต่เดิมจะเป็นระบบแบบ “pay-as-you-go”  กล่าวคือเป็นระบบเงินบำนาญที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญไปเรื่อย ๆ ทุกเดือนจนกระทั่งผู้รับบำนาญเสียชีวิต โดยอาศัยเงินทุนจากการที่เก็บจากผู้สมทบ ซึ่งในระบบนี้ หากเป็นระบบบำนาญของประเทศแล้ว ในกรณีที่ผู้รับบำนาญมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น หรือมีจำนวนมากขึ้น นั่นหมายความถึงภาระของเงินงบประมาณที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี หรืออีกนัยหนึ่งคือภาระของผู้เสียภาษี ซึ่งรัฐบาลก็จะดำเนินการอย่างไรอย่างหนึ่งโดยมีทางเลือกคือ ไม่ลดจำนวนผลประโยชน์ของบำนาญที่ได้รับก็คงต้องเรียกเก็บภาษีจากผู้ที่อยู่ในวัยทำงานมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลในประเทศที่กำลังพัฒนา พบว่าปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น จึงจะต้องคิดหาวิธีการจัดการกับปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงเพื่อไม่ให้เป็นภาระเดือดร้อนกันไปทุกฝ่าย ในหลายประเทศจึงคิดใช้ ระบบบำนาญแบบผสมหลายเสาหลัก (Multi Pillar) ตามรูปแบบของธนาคารโลก ซึ่งประกอบด้วย เสาหลัก 3 เสาดังนี้

เสาหลักที่ 1 ( Pillar 1) เป็นระบบของประเทศสำหรับประชากรทั้งประเทศเรียกว่า ระบบ pay as you go ซึ่งเป็นภาคบังคับ โดยปกติแล้วจะเป็นแบบ defined benefit โดยมีการจัดเก็บเงินสมทบหรือไม่ก็ได้ และมีการกระจายผลประโยชน์ในรูปบำนาญกลับคืนให้ประชาชนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น กองทุนประกันสังคม เป็นต้น

เสาหลักที่ 2 เป็นระบบของประเทศอาจบริหารโดยเอกชน หรือ หน่วยงานอิสระของรัฐ มีเงินกองทุน และมีการส่งเงินสะสมเงินของสมาชิก และมักจะมีการสมทบจากนายจ้าง เข้ากองทุนในบัญชีของแต่ละคน ส่วนใหญ่ แล้วจะเป็น ระบบ defined contribution แต่จะเป็นภาคบังคับ ประชากรทุกคนที่อยู่ในบังคับจะต้องเป็นสมาชิกกองทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น

เสาหลักที่ 3 บริหารโดยเอกชน มีเงินกองทุน และมีการส่งเงินสะสมเงิน ในบางกรณีอาจมีเงินสมทบจากนายจ้าง เข้ากองทุนในบัญชีของแต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นระบบ defined contribution แต่จะเป็นภาคสมัครใจ กฎหมายไม่ได้บังคับ เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

โครงสร้างระบบบำนาญแบบ 3 เสาหลักนั้นใน แต่ละเสามีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ล้วนแล้วจะเพื่อส่งเสริมระบบการออมของทุกคน และส่งผลดีต่อประเทศที่รักยิ่งได้ในที่สุด เมื่อประเทศชาติร่มเย็น ประชาชนที่อาศัยทุกคนย่อมเป็นสุข

ที่มา : กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น