xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 23 เรื่อง : ระบบบำเหน็จบำนาญของสากล (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่แล้ว เราได้ศึกษากันเรื่องของระบบบำเหน็จบำนาญว่า ระบบที่แตกต่างกันไปที่เรียกกันว่า เสาหลักที่ 1 ( Pillar 1) เป็นระบบของประเทศสำหรับประชากรทั้งประเทศเรียกว่า ระบบ pay as you go ซึ่งเป็นภาคบังคับ เสาหลักที่ 2 เป็นระบบของประเทศอาจบริหารโดยเอกชน หรือ หน่วยงานอิสระของรัฐ มีเงินกองทุน และมีการส่งเงินสะสมเงินของสมาชิก และมักจะมีการสมทบจากนายจ้าง เข้ากองทุนในบัญชีของแต่ละคน เสาหลักที่ 3 บริหารโดยเอกชน มีเงินกองทุน และมีการส่งเงินสะสมเงิน ในบางกรณีอาจมีเงินสมทบจากนายจ้าง เข้ากองทุนในบัญชีของแต่ละคน แต่จะเป็นภาคสมัครใจ กฎหมายไม่ได้บังคับ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

ครั้งนี้เรามาดูกันว่า วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในแต่ละเสาหลักนั้นคืออะไรกัน เมื่อเราทราบแล้วก็ควรมองกลับว่า ตัวเรามีระบบการออมเงินแบบไหนเพื่อการเลี้ยงดูตัวเองในวัยเกษียณกันบ้าง

เสาหลักที่ 1 ให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์กลับออกไปให้แก่ประชากร เพื่อสร้างหลักประกันในสังคมที่ว่า ทุกคนจะต้องมีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ อย่างน้อยที่สุดรายได้ที่ควรจะได้รับจะต้องไม่น้อยกว่า เส้นความจน (Poverty Line) ซึ่งหมายถึง อย่างน้อย ๆ เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไม่อดอยากยากเข็ญเมื่อถึงวันที่เราไม่มีรายได้อีกต่อไป

เสาหลักที่ 2 ให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ของผู้เกษียณให้สูงกว่าเส้นความจน เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอกับการยังชีพอย่างปกติ และ สามารถเข้าถึงความต้องการที่จำเป็นได้ เสาหลักที่ 2 นี้จะเป็นภาคบังคับ โดยมุ่งเน้นการออมที่จำเป็นสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว การออมในภาคบังคับนี้จะมีส่วนในการเพิ่มอัตราเงินออมในประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยรัฐมักจะเลือกใช้การออมในระบบเสาหลักที่ 2 เป็นเครื่องมือในการรักษาดุลของช่องว่างการออมและการลงทุนเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ ระหว่างที่เราออมเงินในช่วงมีเงินเดือนเพื่อเก็บไว้ใช้ตอนแก่นั้น รัฐได้เอาเงินออมไปใช้จ่ายและลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั่วประเทศ และเมื่อเกษียณเราก็จะได้รับเงินออมพร้อมดอกผลมาไว้ใช้จ่ายอย่างมีความสุขนั่นเอง

เสาหลักที่ 3 เป็นระบบการออมในภาคสมัครใจ สำหรับคนที่คิดว่าต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีหลังจากเกษียณไม่น้อยหน้าไปกว่าตอนที่ยังมีงานทำอยู่ จึงต้องวางแผนออมเงินให้มากกว่าการออมปกติซึ่งเป็นแบบสมัครใจที่จะออมเพื่อให้มีเงินออมเพิ่มมากขึ้นและเพียงพอต่อแผนการใช้ชีวิตในอนาคต พร้อมได้รับความสะดวกสบายและการดูแลรักษาพยาบาลที่สูงกว่ามาตรฐาน การออมในภาคสมัครใจนี้รัฐมักจะใช้เป็นเครื่องมือในการระดมเงินออมเพื่อรักษาสมดุลของการออมภายในประเทศและการลงทุนที่มีจำนวนไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะการออมในระบบเสาหลักที่ 3 นี้ จะไม่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนเงินออมในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เสาหลักที่ 3 นี้ มักเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลจึงมีการส่งเสริมโดยการให้สิทธิประโยชน์ ทางภาษีควบคู่กับระบบบำนาญแบบนี้เสมอ

จากระบบเสาหลักทั้ง 3 ของธนาคารโลก ในทางปฏิบัติจะพบว่า เสาหลักของแต่ละระบบก็จะมีความเหมาะสมกับกลุ่มประชากรที่ต่างอาชีพและระดับของรายได้ ดังนั้นการที่ประชากรทั้งประเทศมีหลักประกันในวัยเกษียณได้นั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบบำนาญอื่นเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

แล้วเราจะได้มาดูกันต่อไปว่า ที่ว่าระบบบำเหน็จบำนาญอื่นนั้นคืออะไรในตอนต่อไป

ที่มา : กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

กำลังโหลดความคิดเห็น