xs
xsm
sm
md
lg

คาด กนง.คงดอกเบี้ย 1.25% เชื่อไม่กระทบ ศก.แนะรัฐเร่งฟื้นเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ. บีที คาดประชุมกนง.วันนี้ ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมที่ 1.25% เผยไม่กระทบเศรษฐกิจ แต่รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

นายเจิดพันธุ์ นิธยายน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีที จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันนี้ (2 ธ.ค.) บริษัทคาดว่าน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมคือ 1.25% โดยมองว่าการคงเดิมของอัตราดอกเบี้ยน่าจะไม่ยืดยาวไปจนถึงปลายปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม กับการประชุมในครั้งนี้ซึ่งถือว่าเป็นรอบสุดท้ายของปี เราคงต้องดูว่าโฆษกรัฐบาลจะออกมาชี้แจงถึงความชัดเจนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจอย่างไรต่อไปในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นคาดว่าน่าจะอยู่ในจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมนั้นน่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตยังคงต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจให้แน่ชัดก่อน รวมถึงต้องดูถึงภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย

"การประชุมครั้งนนี้จะยังคงอัตราเดิมไว้ก่อน แต่จะถึงเมื่อไหร่นั้นคาดว่าน่าจะไม่เกินปลายปีหน้า แต่การประชุมครั้งนี้เราต้องดูท่าทีของรัฐบาลด้วยว่าจะออกมาสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนด้านเศรษฐกิจอย่างไรต่อไป" นายเจิดพันธุ์ กล่าว

ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันนี้ ( 2 ธ.ค.52) และอาจต่อเนื่องต่อไปจนถึงช่วงกลางปี 2553 เป็นอย่างน้อย โดยที่การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำ ณ ขณะนี้ไปเป็นทิศทางขาขึ้น น่าจะเกิดขึ้นเมื่อ กนง.มีความเชื่อมั่นมากพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีน้ำหนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักในโลก และสมดุลของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึงปัจจัยในประเทศ ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อความคืบหน้าของการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ตลอดจนความชัดเจนของโครงการลงทุนในบางสาขา อาทิ โครงการในลักษณะเดียวกับกรณีที่มาบตาพุด และโครงการด้านโทรคมนาคม เป็นต้น

ในขณะที่ การเร่งตัวของแรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะที่มาจากด้านอุปสงค์ในประเทศ น่าจะเกิดขึ้นในขอบเขตที่จำกัด เพราะเศรษฐกิจเพิ่งอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว และยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจพิจารณาต่ออายุบางมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนออกไปอีก รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคอาจยังทำได้ไม่เต็มที่นัก ท่ามกลางภาวะการแข่งขันสูง โดยเฉพาะหลังการเปิดตลาดภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียนในช่วงต้นปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำของ กนง. ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ และ กนง.ก็น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถดำเนินการได้อยู่อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันใกล้นี้

นอกจากนี้ แม้ว่าจังหวะเวลาของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากระดับผ่อนคลายเป็นพิเศษไปสู่ระดับในภาวะปกติหรือนโยบายที่มีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม อาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ แต่การตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยโดย กนง. คงจะไม่อาจละเลยการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่สำคัญในโลกโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯไปได้ เพราะความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศ อาจมีอิทธิพลส่วนหนึ่งต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น กนง.คงจะต้องชั่งน้ำหนักและพิจารณาถึงปัจจัยนี้ในการกำหนดนโยบายการเงินเพื่อรักษาสมดุลของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งรวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น