ธปท.มองแนวโน้ม ศก.ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้เดือน ต.ค.จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เพราะเกิดจากอุปสงค์ที่แผ่วตามการบริโภค และการเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็งฯ ล่าช้า คาดต้องใช้มาตรการ ดบ.ต่ำพยุง ศก.ต่อเนื่อง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.วันที่ 2 ธ.ค.นี้ น่าจะคง ดบ.ที่ 1.25% ยาวถึงกลางปี 53 แต่ต้องระวังความเสี่ยงการเก็งกำไรส่วนต่าง ดบ.สกุลเงิน
นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2552 โดยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดี และคาดว่าน่าจะขยายตัวต่อเนื่องไปอีก แม้ว่าหากเทียบเดือนต่อเดือนอาจจะมีความผันผวนบ้าง แต่เห็นแนวโน้มที่น่าจะดีขึ้น
ธปท.ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2552 ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง หลังจากที่ปรับตัวดีขึ้นมากในเดือนกันยายน 2552 การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อขายทั้งตลาดในประเทศและส่งออกปรับตัวดีขึ้นในหลายอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ธปท.พบว่าแรงส่งของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลง หลังจากที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งแรงกระตุ้นของภาครัฐที่น้อยลงจากปัญหาความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยอมรับว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง การใช้นโยบายการคลังยังไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะติดขัดเรื่องการเบิกจ่ายงบฯ ดังนั้น เชื่อว่า นโยบายทางด้านการเงินเพื่อประคองเศรษฐกิจช่วงท้ายปี 2552 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2553 ยังมีความจำเป็น
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 2 ธันวาคม 2552 นี้ คาดว่าที่ประชุมจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ตามเดิม และอาจต่อเนื่องต่อไปจนถึงช่วงกลางปี 2553 เป็นอย่างน้อย โดยการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ทิศทางขาขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ กนง.มีความเชื่อมั่นมากพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีน้ำหนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักในโลก และสมดุลของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่
2.ปัจจัยในประเทศ ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อความคืบหน้าของการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ตลอดจนความชัดเจนของโครงการลงทุนในบางสาขา เช่น โครงการในลักษณะเดียวกับกรณีที่มาบตาพุด และโครงการด้านโทรคมนาคม เป็นต้น
ขณะที่การเร่งตัวของแรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะที่มาจากด้านอุปสงค์ในประเทศน่าจะเกิดขึ้นในขอบเขตที่จำกัด เพราะเศรษฐกิจเพิ่งอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว และยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจพิจารณาต่ออายุบางมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนออกไปอีก รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคอาจยังทำได้ไม่เต็มที่นัก ท่ามกลางภาวะการแข่งขันสูง โดยเฉพาะหลังการเปิดตลาดภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียนในช่วงต้นปี 2553
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำของ กนง.ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ และ กนง.ก็น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถดำเนินการได้อยู่อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันใกล้นี้
ทั้งนี้ แม้จังหวะเวลาของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากระดับผ่อนคลายเป็นพิเศษไปสู่ระดับในภาวะปกติ หรือนโยบายที่มีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม อาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ แต่การตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทย โดย กนง.คงไม่อาจละเลยการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่สำคัญในโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เนื่องจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศอาจมีอิทธิพลส่วนหนึ่งต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้น กนง.คงจะต้องชั่งน้ำหนักและพิจารณาถึงปัจจัยนี้ในการกำหนดนโยบายการเงินเพื่อรักษาสมดุลของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งรวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินบาท
สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนามและดูไบนั้น แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วคาดว่าผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2553 จะมีจำกัด แต่สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก และยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในทันทีขณะนี้ว่าสถานการณ์ของทั้ง 2 ประเทศจะใช้เวลานานเพียงใดกว่าที่จะคลี่คลายเป็นปกติ
ดังนั้น ธนาคารกลางทุกแห่งทั่วโลก รวมถึง ธปท.คงจะต้องติดตามความคืบหน้าของประเด็นซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะที่การเข้าไปดูแลความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ของเศรษฐกิจบางประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เป็นต้น อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงขาลงให้กับเศรษฐกิจไทยไม่มากก็น้อย และส่งผลตามมาให้ กนง.จำเป็นต้องตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิม