ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับคาดการณ์ GDP ปี 52 การติดลบผ่อนคลายลงเหลือ 3.1% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3.3% ส่วนแนวโน้มปี 53 กลับมาเป็นบวกที่ประมาณ 3% พร้อมห่วงการบริโภคที่แผ่วลง ส่งผลต่อการเติบโต ศก.ในอัตราที่ชะลอตัว ขณะที่ ศก.โลก-ศก.ประเทศพัฒนาแล้ว ยังมีความเปราะบางจากปัญหาการว่างงานสูง และความอ่อนแอของภาคการบริโภค อาจนำไปสู่ความเสี่ยง ศก.ที่จะถดถอยได้อีก
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ครั้งล่าสุด ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2552 โดยคาดว่าจะหดตัว 3.1% ซึ่งเป็นการหดตัวน้อยลงจากเดิมที่คาดว่าจะติดลบถึง 3.3% ขณะที่คาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ในระดับปานกลาง ที่ประมาณ 3.0% โดยมีช่วงกรอบประมาณการอยู่ระหว่าง 2.5-3.5%
ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้วอาจมีระดับค่อนข้างใกล้เคียงหากเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ประมาณ 2.3%
รายงานระบุว่า จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 (วานนี้) พบว่าแม้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2552 ยังคงขยายตัว 1.3% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจาก 2.2% ในไตรมาส 2 ปี 2552 และต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ การบริโภคของรัฐบาล ขณะที่การลงทุนชะลอลงเล็กน้อย
สำหรับมุมมองในภาพรวม แม้เศรษฐกิจจะมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย แต่ปัจจัยที่คาดหวังว่าจะเข้ามาเป็นแรงกระตุ้นเหล่านี้ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ โดยเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ยังมีความเปราะบางจากปัญหาการว่างงานสูง และความอ่อนแอของภาคการบริโภค ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ เมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการของแต่ละประเทศนำออกมาใช้เริ่มหมดไป
ขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่เป็นความหวังว่าจะเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนั้น ยังเผชิญความเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อสูง และการก่อตัวของฟองสบู่ในสินทรัพย์ นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่อการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน การลงทุนในกิจการหลายประเภทที่กำลังเผชิญข้อติดขัดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการลงทุน เช่น โครงการในลักษณะเดียวกับ 76 โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ศาลปกครองกลางสั่งให้ระงับโครงการไว้ก่อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตลอดจนการลงทุนในกิจการโทรคมนาคมอาจยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกว่าที่จะเห็นโครงการเดินหน้าได้ อย่างเร็วคงเป็นช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2553 ซึ่งความล่าช้าในการดำเนินการจึงอาจมีผลต่อมูลค่าการลงทุนโดยรวม
ขณะที่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในปี 2553 อาจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ โดยการบริโภค อำนาจซื้อของผู้บริโภคอาจยังไม่ดีขึ้นมากนัก ยังมีแรงกดดันจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจเริ่มปรับขึ้น ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนมีอุปสรรคหลายด้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอแนะว่า บทบาทของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท และงบภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในส่วนที่มาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงินทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท ที่ยังมีความล่าช้า
นอกจากนี้ คงต้องมีการบริหารจัดการและดูแลการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของรัฐนั้น ก่อเกิดผลทวีคูณไปสู่การเติบโตของภาคการผลิต การลงทุน การจ้างงาน และการบริโภคของภาคเอกชนตามมา ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการเสริมสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งขึ้นให้แก่ภาคเอกชน เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนั้นจะไม่อาจเกิดขึ้นได้หากกิจกรรมเศรษฐกิจในภาคเอกชนยังอ่อนแอ