xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แจงทิศทาง ศก.ไทย ปี 53 หนุนกำลังซื้อ ปชช.ดัน จีดีพีโต 3.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกฯ เผยทิศทาง ศก.ไทย ปี 53 รัฐบาลยังเน้นการกระตุ้น ศก.โดยรักษากำลังซื้อ ปชช.เป็นหลัก พร้อมผลักดัน GDP ให้เติบโต 3.5% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ชี้ การฟื้นตัวในขณะนี้ยังมีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญอีกหลายด้าน ย้ำชัด จะไม่ให้การเมืองทำให้เสียสมาธิในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน รัฐบาลจะเร่งทำให้สังคมเข้าสู่ระบบ ลั่นสังคมมีความแตกต่างได้ แต่ต้องไม่รุนแรง การแสดงออกต่างๆ ต้องไม่ผิดกฎหมาย




นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จากไทยเข้มแข็งสู่ไทยยั่งยืน” ในการสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 53 เศรษฐกิจไทยอยู่อย่างไรในอนาคต” ซึ่งจัดโดยของสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระบุถึงแนวทางนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ มุ่งเน้นการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเน้นรักษากำลังซื้อของประชาชนเป็นหลัก โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2553 จะเติบโตในระดับ 3.5% ซึ่งฟื้นตัวจากที่คาดว่าจะติดลบ 3.0-3.5% ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในมากขึ้น เพิ่มรายได้ลดรายจ่าย พร้อมประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ ถือว่าผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และคาดหวังว่า ภูมิภาคเอเซียจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วที่สุดเพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวในขณะนี้ยังมีความเปราะบาง เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน เพราะไม่มั่นใจว่ามาตรการต่างๆ ที่นำออกมาใช้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ครบถ้วนทุกด้าน อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการว่างงานที่มีแนวโน้มจะกลับมาเกิดได้อีก

ดังนั้น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 55 โดยใช้งบประมาณมากถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมการพัฒนาทั้งด้านการเกษตร การคมนาคม การศึกษา และการสาธารณสุข ที่จะส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง

“การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนมาตลอด ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่ 3-4 ประการ ความท้าทายแรกเป็นเรื่องของอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม แม้เราจะเป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า”

นายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่างกรณีเป้าหมายที่ไทยพยายามที่จะเป็นครัวของโลก แต่ขณะที่พ่อครัวแม่ครัวยังมีฐานะยากจนอยู่ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบางต้องเร่งแก้ไข ในเรื่องพลังงานรัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการใช้และพัฒนาพลังงานทดแทนให้เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 20% ภายในปี 2563

ความท้าทายต่อมาเป็นเรื่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ที่จะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีความคล่องตัวเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันความผัวผวนของเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ความท้าทายที่สามเป็นเรื่องของระบบการเงินการคลัง โดยขณะนี้ทุกประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ซึ่งในส่วนของไทย หากไม่มีปัญหายืดเยื้อก็เชื่อว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในเวลา 5-7 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปทบทวนแผนการกู้เงินในกรณีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น โดยอาจปรับลดวงเงินกู้ลง แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่ชัดเจนได้ในขณะนี้

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าไปได้ด้วยดี แม้สถานการณ์จะไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากยังมีปัญหาด้านการเมือง ซึ่งเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

“รัฐบาลจะไม่เสียสมาธิในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ไม่เอาเรื่องการเมืองมาเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แม้ความแตกต่างจะมีอยู่ในสังคมไทยแต่จะพยายามทำให้ความแตกต่างเหล่านั้นกลับเข้าสู่ระบบ”

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ปัญหาการเมืองส่งผลต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และความขัดแย้งยังมีต่อไป ทั้งปีนี้และปีหน้า ซึ่งรัฐบาลจะเร่งทำให้สังคมเข้าสู่ระบบคือ มีความแตกต่างได้แต่ต้องไม่รุนแรง และการแสดงออกต่างๆ ต้องไม่ผิดกฎหมาย โดยจะนำกลไก ทั้งจากประชาชนและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการชี้ขาดความเห็นที่แตกต่าง เพื่อให้ความแตกต่างกลับคืนสู่จุดสมดุล โดยแยกให้ชัดเจนว่า เรื่องไหนควรเข้าสู่กระบวนการของสภา และเรื่องไหนควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ช่วยในการหยั่งรากประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น