xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ปี 53 แนวโน้มสดใส “กสิกร-หอการค้า” การันตี “จีดีพี” ไม่ต่ำกว่า 3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกร-ม.หอการค้า ประเมินภาวะ ศก.ไทยปี 53 ขยายตัวเป็นบวก “จีดีพี” โตได้ไม่ต่ำกว่า 3.0% โดยเชื่อว่า วิกฤต ศก.โลก คลี่คลายดีขึ้น โดยเครื่องชี้วัดต่างๆ สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ พร้อมชี้ปัจจัยที่มีผลสำคัญ ทั้งโครงการ 3จี มาบตาพุด ค่าเงินดอลลาร์ การว่างงาน อุปทานส่วนเกิน และปัญหาการเมืองที่กำลังถูกลากไปสู่ความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ฉบับล่าสุด โดยปรับประมาณการอัตราการขยายตัว (จีดีพี) ของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มาเป็นหดตัวลดลงเหลือแค่ 3.3% จากเดิมคาดว่าอาจจะหดตัว 3.5-4.1% พร้อมกับคาดการณ์ว่าในปี 2553 จีดีพีอาจขยายตัวได้ในระดับปานกลางอยู่ที่ 3.0%

ทั้งนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในหลายประเทศของโลก ประกอบกับผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทยเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้มูลค่าจีดีพีเติบโตค่อนข้างสูงต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ปี 2552

ดังนั้น ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2552 จะขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อาจติดลบ 3.3% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว 4.9% ในไตรมาส 2 ปี 2552

ส่วนเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2552 คาดว่า จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในอัตรา 2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่แนวโน้มการฟื้นตัวมีโอกาสที่จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามทิศทางเศรษฐกิจต่างประเทศที่ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเบาบางลง ขณะที่สถานการณ์ในประเทศมีปัจจัยฉุดรั้งจากหลายด้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศและภายในประเทศ ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G3 ยังมีความเปราะบาง โดยปัญหาการว่างงานสูงจะยังคงเป็นปัจจัยลบที่จะฉุดรั้งการฟื้นตัว ขณะที่ เศรษฐกิจเอเชีย แม้มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง แต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง โดยเฉพาะการเติบโตที่มาจากเร่งกระตุ้นทางเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ในทางกลับกันอาจนำมาซึ่งความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะฟองสบู่ หรือปัญหาอุปทานล้นเกิน (Oversupply) ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเริ่มของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ได้

ส่วนแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่ยังอ่อน อาจเป็นปัจจัยเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะยิ่งกดดันการใช้จ่ายของภาคการบริโภคในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย

ขณะที่ปัญหาการเมืองในประเทศ และการเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยปัญหาการเมืองอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน การท่องเที่ยว และเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งจะมีผลต่อความคืบหน้าในดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จะสร้างความรู้สึกกังวลใจให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งอาจสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจหากปัญหาลุกลามออกไป

นอกจากนี้ ความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายจะกระทบต่อการลงทุนในธุรกิจบางประเภท เช่น การลงทุนในกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่นกรณีการระงับโครงการลงทุน 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด นอกจากนี้ ยังมีกรณีข้อติดขัดของการให้อนุญาตเอกชนลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2553 โดยคาดว่า จีดีพี น่าจะขยายตัวในระดับ 3.2% จากที่ขยายตัวติดลบ 3.1% จากปี 2552 ซึ่งอยู่ในกรอบที่เคยประมาณการไว้ที่ขยายตัวติดลบ 3.0-3.5%

นายธนวรรธน์ กล่วว่า แนวโน้มปี 2553 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเป็นบวก 3.2% พร้อมประเมินว่า ในปีหน้าปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นบวก โดยเฉพาะการขยายตัวภาคการส่งออก

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่ำกว่าคาด การเมืองภายในขาดเสถียรภาพ และยังมีปัญหาการลงทุนในมาบตาพุด ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าขยายตัวเพียงแค่ 2.5% แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีกว่าที่คาด การเมืองมีเสถียรภาพ และไม่มีปัญหาการลงทุนมาบตาพุด เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้ถึง 4%

ส่วนสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยในปี 2552 ขยายตัวติดลบ 3.1% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออกจนทำให้ขยายตัวในระดับต่ำ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศให้ชะลอตัวลงด้วย แต่ในช่วงปลายไตรมาสสามของปีนี้ เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นบวกต่อเนื่องมายังไตรมาสสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น