ม.หอการค้า ชี้ เห็นสัญญาณ ศก.ฟื้นตัวชัดเจน หลังสำรวจภาคครัวเรือนทั้ง 4 ภูมิภาค พร้อมคาดการณ์ “จีดีพี” ไตรมาส 3 ติดลบ 3.2% และจะเป็นบวก 2.6% ในไตรมาส 4 จากการส่งออกที่ฟื้นตัว ส่วนปี 53 คาดว่า น่าจะดีขึ้น โดยมีโครงการไทยเข้มแข็งหนุน แต่ห่วงประชาคมอาเซียน ประชาชนยังไม่ค่อยเข้าใจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสำนักการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง และคลังจังหวัดทุกจังหวัด สรุปภาวะเศรษฐกิจรายภูมิภาคประจำไตรมาส 3 ปี 2552 โดยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีสัญญาณการหดตัวร้อยละ 3.2 ถือเป็นการหดตัวน้อยกว่าไตรมาส 2 ปี 2552 แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์เริ่มฟื้นตัวชัดเจน แต่ยังมีปัจจัยบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจ คือ ปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมถึงสถานการณ์การเมือง ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แม้ภาคการส่งออกเริ่มดีขึ้น แต่ภาคการเกษตรยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาวะเศรษฐกิจแต่ละภาคในช่วงไตรมาส 3 นั้น ภาคเหนือเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 2.3 ขณะที่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือหดตัวร้อยละ 2.4 ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑลหดตัวร้อยละ 4.3 ภาคใต้ หดตัวร้อยละ 2.5 ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมแต่ละภาคติดลบตลอด แม้คาดว่าจะฟื้นตัวไตรมาส 4 ปี 2552 โดยจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ทำให้ภาพรวมจีดีพีของประเทศปีนี้จะติดลบร้อยละ 3.5
ส่วนปี 2553 เชื่อว่า สถานการณ์น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ปัญหาสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียน การจ้างงาน และรายได้ที่ลดลง รวมถึงความเชื่อมั่น
ขณะที่การสอบถามประชาชนเกี่ยวกับงบประมาณไทยเข้มแข็ง จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดมากน้อยแค่ไหน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่างบประมาณไทยเข้มแข็ง จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดได้ค่อนข้างมาก
ส่วนการสอบถามประชาชนส่วนใหญ่ หลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแต่ละภูมิภาคพบว่า ประชาชนแต่ละภาคยังรู้จักประชาคมอาเซียนค่อนข้างน้อย จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำความเข้าใจไม่ว่าภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน การเปิดเสรีทางการค้าปี 2553 รัฐบาลจึงต้องเร่งทำความเข้าใจถึงผลดีผลเสีย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจภายใต้กรอบความร่วมมือ
นอกจากนี้ ยังสอบถามภาวะหนี้โดยรวมของแต่ละจังหวัด โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาระหนี้สินมากขึ้นจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจต่างๆ และการที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวง การคลังจะดึงหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะจะมีหนี้ลดลงและเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน
ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้แนวโน้มราคาน้ำมันถือเป็นตัวบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมองว่า ราคาน้ำมันจนถึงสิ้นปีอาจจะเฉลี่ย 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างน้อยลิตรละ 2 บาท บั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน 4,000 ล้านบาทต่อเดือน
ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมโครงการไทยเข้มแข็งให้เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 จะต้องทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกร้อยละ 1.6-2.1 ทำให้จีดีพีเฉลี่ยทั้งปีติดลบอยู่ที่ร้อยละ 3.5 อย่างไรก็ตาม โดยรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกของปี 2553 ยังฟื้นตัวไม่มาก โดยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1-2 เพราะติดปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหนี้ของประเทศ เช่น หนี้เกษตรกร
ทั้งนี้ หลังจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลออกเป็นรูปธรรม เชื่อว่า ครึ่งหลังปี 2553 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแน่นอน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีหน้าจะอยู่ที่ร้อยละ 2-3 เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 2-3 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ถือเป็นสัดส่วนที่น่าจะปรับขึ้นไม่มาก และไม่น่าจะกระทบต้นทุนจนต้องปรับขึ้นราคาสินค้า