ม.หอการค้า เผย ผลสำรวจอุตฯ ท่องเที่ยว เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น คาดไตรมาส 4 กลับมาเป็นบวกได้ และจะเห็นผลชัดเจนปีหน้า พร้อมให้คะแนน รบ.แก้ปัญหาการท่องเที่ยว 6 เต็ม 10
นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นประเด็นทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย 400 ตัวอย่างจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยพบว่า การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นขึ้นจากไตรมาสที่ 1-2 ที่คาดว่าจะติดลบ 10-20% และเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่าไตรมาส 4 จะมีการขยายตัว 3-7% ส่งผลให้ทั้งปีติดลบประมาณ 10-15% และจะเห็นผลชัดเจนว่ามีการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มองว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ภาวะเศรษฐกิจโลก ไข้หวัดใหญ่ 2009 ราคาน้ำมัน เสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อการหดตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากการประเมินคาดว่าภาพรวมการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 และจะส่งผลให้ โดยรวมมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมา 10-15% และรายได้เหลือมูลค่า 4.2 แสนล้านบาท ถึง 4.5 แสนล้านบาท รายได้หายไปจากปีที่แล้ว 5 แสนล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่น คือ เศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้กำลังซื้อ และการบริโภคค่อนข้างหดตัว แต่เห็นว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะขยายตัว 3-7% แม้ว่าไตรมาส 3 คาดว่า จะติดลบกว่า 10% และต้องเร่งกระตุ้นทุกด้าน เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งใน และต่างประเทศ
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ธุรกิจฯ มองว่า จากปัจจัยลบต่างๆ ทำให้ปีนี้นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 12.5 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนที่ 10-15% หรือคิดเป็นมูลค่า 45,000 ล้านบาท แต่หากรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านต่างๆ จะทำให้การท่องเที่ยวปีหน้ากลับมาเป็นบวก และจะมีนักท่องเที่ยว 14.5 ล้านคน
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวอีกว่า การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในไตรมาส 4 ยังเป็นการฟื้นตัวแบบเปราะบาง แต่โครงการไทยเข้มแข็งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการได้ปรับตัวดีขึ้น สิ่งที่เคยเป็นปัญหาต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว คือปัญหาการขาดสภาพคล่องก็เริ่มคลายตัวลง หลังจากรัฐบาลให้สถาบันการเงินเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น ผ่านทางกองทุน 5,000 ล้านบาท ทำให้ปัญหาขาดสภาพคล่องลดลงจากช่วงเดือนมิถุนายน อาทิ ร้านอาหารที่ประสบปัญหาสภาพคล่องลดลง 77.6% ก็ลดลง เหลือเพียง 53.8% ซึ่งผู้ประกอบการเริ่มแก้ไขปัญหาช่วยตัวเองได้ด้วยการลดต้นทุน
ส่วนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล ได้ 6.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 การดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวได้ 6 การแก้ปัญหาด้านการท่องเที่ยวได้ 6 คะแนน