xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์พยากรณ์ศก.หวั่นน้ำมัน-เกษตรกดค่าบาท-ส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่สุด เหตุยังมีปัญหาน้ำมันแพง สินค้าเกษตรตกต่ำ ค่าบาทฉุดส่งออก เป็นตัวถ่วง เผยเฉพาะน้ำมันอาจขึ้นอีกลิตรละ 2 บาท ฉุดกำลังซื้อหายไปเดือนละ 4 พันล้านบาท แนะรัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินโดยเร็วและตามแผน เตือนธปท. อย่าแทรกแซงเงินบาทมากไป จะเกิดผลกระทบระยะยาว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสรุปภาวะเศรษฐกิจรายภูมิภาคประจำไตรมาส 3 ปี 2552 และแนวโน้มว่า ได้คาดการณ์เศรษฐกิจรายภูมิภาคในไตรมาส 4 ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 โดยทุกภูมิภาคขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัว 1.2-2.0% ภาคเหนือ 1.1-1.8% ภาคใต้ 1.2-2.0% ภาคกลาง 2.1-3.5% กรุงเทพฯ และปริมณฑล 1.5-2.4% ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ขยายตัว 1.6-2.6%

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไตรมาส 4 จะขยายตัวเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวในระดับปานกลาง เพราะมีปัจจัยลบที่กระทบเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 คือ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลภายในประเทศอาจปรับตัวสูงขึ้น 2 บาท/ลิตร เป็นการบั่นทอนอำนาจซื้อของประชาชนถึงเดือนละ 4,000 ล้านบาท ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีทิศทางตกต่ำ เป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่ออำนาจซื้อของประชาชน รวมถึงภาคส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า

“แม้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 จะเริ่มฟื้นตัวเป็นบวก แต่ก็มีปัจจัยลบที่เป็นตัวบั่นทอนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งปลายปีอาจมีโอกาสได้เห็นราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้นถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลอีกก็ได้”นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ โครงการไทยเข้มแข็งที่รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงิน 2 หมื่นล้านบาท ผ่านโครงการต่างๆ ลงในระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ต้องทำให้รวดเร็วและเป็นไปตามแผน รวมถึงเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะจากการสำรวจของกรมบัญชีกลาง พบว่าภาคเกษตรกรมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ดังนั้น การที่รัฐบาลเข้าไปดูแลหนี้สินของเกษตรกรผ่านธนาคารของรัฐ ด้วยการนำหนี้นอกระบบมาไว้ในระบบถือว่ามาถูกทาง และการเข้าไปผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น

“มาตรการเหล่านี้ จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไตรมาส 4ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนไว้ได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ในกรอบที่ประเมินไว้ คือ ติดลบ 3.1-3.5% ส่วนเศรษฐกิจปีหน้า คาดว่าจะขยายตัว 2-3% โดยครึ่งปีแรกของปีหน้า เศรษฐกิจจะยังฟื้นตัวไม่มากขยายตัว 1-2% แต่ครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้น จากมาตรการที่รัฐดำเนินการออกมาเห็นผลเป็นรูปธรรม ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าสูงขึ้น 2-3% และส่งออกจะขยายตัวเป็นบวก 10% ขึ้นไป โดยอัตราแลกเปลี่ยนปีหน้าอยู่ที่ 32.50 บาท/เหรียญสหรัฐ”

สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้เงิน 5 แสนล้านบาทแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า เห็นว่าธปท.ไม่ควรแทรกแซงค่าเงินบาทไปมากกว่านี้ เพราะจะมีผลต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หากค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง จะทำให้มูลค่าทางบัญชีของธปท.ที่ถือเงินเหรียญสหรัฐไว้มีมูลค่าด้อยลงไป ดังนั้น ธปท.ควรหามาตรการเสริม เช่น ผลักดันให้มีการลงทุนในประเทศอาเซียน หรือนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าวัตถุดิบทุนมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการเก็บเงินเหรียญสหรัฐมากเกินไป

ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เห็นว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ควรปรับขึ้นค่าแรง 5-6% ตามที่เรียกร้อง แต่ควรขึ้นค่าแรงแค่ 2-3% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น