xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ผลผลิตศักยภาพสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อต้นเดือนนี้ ผมได้อ่านบทความหนึ่งของ IMF ที่พูดถึงระดับผลผลิตศักยภาพ(Potential Output)ว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับนโยบายการคลัง หากประเมินระดับผลผลิตศักยภาพไว้สูงเกินไปก็จะทำให้มีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางการคลังในการกระตุ้นที่น้อยเกินไปได้ สำหรับนโยบายการเงิน หากวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ระดับผลผลิตศักยภาพของประเทศลดลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะเห็นเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามในบทความได้กล่าวว่า การประเมินระดับผลผลิตศักยภาพเองก็ทำได้ไม่ง่ายนัก จึงทำให้เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ หากผู้กำหนดนโยบายทราบระดับผลผลิตศักยภาพที่แน่นอนก็จะทำให้โอกาสในการดำเนินนโยบายผิดทิศทางน้อยลง ในครั้งนี้ผมจึงขอเขียนถึงระดับผลผลิตศักยภาพว่าคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ

ผลผลิตศักยภาพคือ ระดับของผลผลิตในประเทศ (GDP) ที่สูงที่สุดที่ประเทศสามารถผลิตได้และเป็นระดับผลผลิตที่ประเทศจะผลิตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศนั้นๆ หาก GDP ของประเทศอยู่เหนือระดับผลผลิตศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นๆมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ความต้องการในประเทศมีมากกว่าการผลิต ในทางกลับกันหาก GDP ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับผลผลิตศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นๆมีแนวโน้มที่จะลดลงจากการที่ผู้ผลิตลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายที่ต่ำกว่าความสามารถในการผลิต ซึ่งในกรณีนี้ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการและนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา ในทางเศรษฐศาสตร์ผลต่างระหว่าง GDP และระดับผลผลิตศักยภาพเรียกว่า Output Gap

ปัญหาในเรื่องของระดับผลผลิตศักยภาพซึ่งมีอยู่ในทุกประเทศในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนในระยะยาว คือ การคำนวณหาระดับผลผลิตศักยภาพของประเทศที่มีหลากหลายวิธีในการคำนวณซึ่งแต่ละวิธีอาจให้ผลที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายก็ยังคงให้ความสำคัญกับระดับผลผลิตศักยภาพอยู่ แม้ว่าตัวเลขของระดับผลผลิตศักยภาพที่มีอยู่ในมือของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจนั้นอาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องกังวลถึงผลของนโยบายที่ทำไป บทความของ IMF กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายในยุโรปเป็นกังวลในประเด็นของระดับผลผลิตศักยภาพ เนื่องจากไม่ต้องการให้นโยบายเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศดำเนินไปทั้งนโยบายการคลังและการเงินนั้นผิดทิศทางหรือให้ผลไม่ทันกาล ในยามวิกฤตเศรษฐกิจที่มีคนตกงาน ธุรกิจต้องชะลอการผลิตหรือหยุดผลิตก็จะมีผลให้ระดับผลผลิตศักยภาพลดลง ได้มีการประเมินไว้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ระดับผลผลิตศักยภาพขยายตัวลดลงถึงร้อยละ 1.5 -2.5 ในทางทฤษฎีหากทางการคาดว่าระดับของ GDP อยู่ต่ำกว่าระดับผลผลิตศักยภาพมาก การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายเศรษฐกิจก็จะต้องออกแรงมาก ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ในทางกลับกันหากคาดว่าระดับของ GDP อยู่สูงกว่าระดับผลผลิตศักยภาพ ก็ย่อมจะเป็นแรงกดดันให้เกิดเงินเฟ้อ ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจที่จะช่วยยับยั้งเงินเฟ้อก็จะต้องถูกงัดออกมาใช้

ในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ไป ระดับผลผลิตศักยภาพจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ กล่าวคือ นโยบายการเงิน ซึ่งธนาคารกลางส่วนใหญ่จะดูแลเสถียรภาพด้านราคาและดูแลให้ระดับการผลิตอยู่ใกล้กับระดับผลผลิตศักยภาพ ในขณะนี้ที่ระดับ GDP อยู่ต่ำกว่าระดับผลผลิตศักยภาพ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆก็ยังคงดำเนินอยู่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงต่อไปข้างหน้าหากระดับของ GDP อยู่ใกล้ระดับผลผลิตศักยภาพมากขึ้นหรือสูงกว่า ธนาคารกลางก็จะดูแลด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพื่อลดแรงกดดันที่ความต้องการมีมากกว่าผลผลิตหรือลดแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบนี้ มีนักวิชาการทั้งต่างชาติและไทยประเมินว่า ระดับผลผลิตศักยภาพน่าจะคิดเป็นการขยายตัวอยู่ที่ช่วงประมาณร้อยละ 5.0-6.0 ซึ่งแน่นอนในปีนี้และปีหน้าการขยายตัวของระดับผลผลิตศักยภาพของไทยคงลดลงตามวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งการลดลงของระดับผลผลิตศักยภาพก็อาจจะใกล้เคียงกับตัวเลขที่มีการประเมินผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐที่ขาดดุลและการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมทั้งการดำเนินโครงการลงทุนตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะช่วยกระตุ้น GDP และช่วยให้ระดับผลผลิตศักยภาพของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ไม่มากนัก เมื่อระดับ GDP ของประเทศสูงขึ้นใกล้เคียงกับระดับผลผลิตศักยภาพ (ที่ผู้กำหนดนโยบายประเมินไว้) ก็จะเป็นเวลาของช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นครับ

                                                                surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น