xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:เงินคงคลังและเงินสำรองระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีการคาดการณ์จากหลายๆ สำนักทั้งในและต่างประเทศว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะมีอัตราการขยายตัวติดลบ โดยที่ตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงหนีไม่พ้นการใช้จ่ายภาครัฐบาล จึงมีประเด็นพูดคุยกันถึงฐานะการเงินของรัฐบาลและเงินคงคลังว่าจะมีจำนวนเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่คาดจากการที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวต่ำกว่าที่ได้ประเมินไว้ ในสัปดาห์นี้ ผมจึงขอกล่าวถึงความหมาย องค์ประกอบ และความสำคัญของเงินคงคลัง และขอใช้โอกาสนี้อธิบายเกี่ยวกับเงินสำรองระหว่างประเทศด้วย เนื่องจากยังมีบางท่านเข้าใจว่าเงินคงคลังกับเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินก้อนเดียวกัน

เงินคงคลัง (Treasury reserves) คือ เงินสดของรัฐบาลมีอยู่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ โดยเงินคงคลังประกอบด้วย บัญชีเงินคงคลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย เงินสด ณ คลังจังหวัด ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่กรมธนารักษ์ เงินคงคลังจึงสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีฐานะการคลังเกินดุล (รัฐบาลมีรายได้มากกว่ารายจ่าย) รัฐบาลสามารถนำเงินที่เกินดุลมาสะสมเป็นเงินคงคลังได้ แต่ในยามที่รัฐบาลมีฐานะการคลังที่ขาดดุล รัฐบาลก็สามารถใช้เงินคงคลังเพื่อชดเชยการขาดดุลได้เช่นกัน โดยในกรณีที่รัฐบาลขาดดุลการคลังนั้นนอกเหนือไปจากการนำเงินคงคลังของรัฐบาลออกมาใช้ รัฐบาลก็อาจเลือกที่จะกู้เงินเพื่อการชดเชยการขาดดุลได้อีกทางหนึ่งด้วยการออกพันธบัตร ตั๋วเงินคลัง และตั๋วสัญญาใช้เงิน อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของภาครัฐจะต้องไม่เกินเพดานการกู้เงินที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ ที่กำหนดไว้ว่า ต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและอีกร้อยละ 80 ของงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนต้นเงินกู้

ในปีงบประมาณ 2552 นี้ รัฐบาลมีการวางแผนที่จะใช้จ่ายถึง 1,951.7 พันล้านบาท (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 116.7 พันล้านบาทแล้ว) รัฐบาลคาดว่าจะมีรายรับ 1,585.5 พันล้านบาท ทำให้ดุลงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2552 นี้ขาดดุลที่ 366.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของ GDP ทั้งนี้ หากพิจารณาจำนวนเงินคงคลัง ณ สิ้นปี 2551 ที่มีอยู่ประมาณ 60.9 พันล้านบาท และหากพิจารณาเพดานการกู้เงินของรัฐบาลตามเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลได้อีกประมาณ 431 พันล้านบาท ก็จะเห็นว่ารัฐบาลพอจะมีวิธีการชดเชยการขาดดุลได้ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าที่คาด ย่อมมีผลกระทบต่อรายรับด้านการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากน้อยเพียงไรในปี 2552 โดยการหดตัวดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐอย่างไร และรัฐบาลจะนำเงินคงคลังมาใช้หรือกู้เงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลอย่างไร

สำหรับเงินสำรองระหว่างประเทศ (International reserves) คือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองโดยธนาคารกลาง ประกอบด้วย ทองคำ สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights -SDRs) สินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) และสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศ โดยจะตีค่าตามราคาตลาดและคำนวณเทียบค่าเป็นดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น เพื่อชดเชยการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 เมษายน 2552 ประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 116.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือตีค่าเป็นเงินบาทที่ 4,113.5 พันล้านบาท ซึ่งนับว่าประเทศไทยมีฐานะการเงินด้านต่างประเทศอยู่ในระดับที่ดีมากทีเดียว

ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยจะต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก็อาจตอบได้ว่าภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการนั้นคงไม่มีความจำเป็นมากเพราะการปล่อยให้ค่าเงินสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศ เป็นกลไกที่ช่วยลดผลกระทบด้านดุลการชำระเงินได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การมีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงจะช่วยให้นักลงทุนต่างประเทศมีความมั่นใจในการนำเงินเข้าลงทุนในประเทศนั้นๆ และทางการมีความคล่องตัวในการดูแลความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อมีความจำเป็น

จากที่ได้อธิบายความหมาย องค์ประกอบ และการใช้ประโยชน์ของเงินคงคลังและเงินสำรองระหว่างประเทศ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่าเงินทั้งสองเป็นคนละก้อนกัน การบริหารเงินคงคลังให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายและมีวินัยทางการคลังนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เศรษฐกิจของประเทศมีการหดตัวเช่นในปัจจุบัน ในขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศก็มีความสำคัญในเชิงที่สะท้อนความเข้มแข็งด้านต่างประเทศ ช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศในการนำเงินมาลงทุนและเป็นเครื่องมือดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อจำเป็น การบริหารเงินทั้งสองก้อนนี้จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น