xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการภาษีและดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
arunsak@scbq.co.th


ลดภาษี
ความคาดหวังต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถูกหยิบยกเป็นหัวข้อสนทนามาตั้งแต่รัฐบาลถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนจะมุ่งเน้นในเรื่องของการเพิ่มการลงทุนในโครงการภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายแนวทางที่ควรจะนำมาพิจารณาประกอบด้วยอย่างเช่นมาตรการการลดภาษี

โดยทั่วไป มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาศัยการใช้จ่ายภาครัฐอาจได้ผลที่เร็วกว่าการใช้มาตรการลดภาษีในเชิงขนาด แต่ก็จะมีผลเสียข้างเคียงตามมาอย่างแน่นอน ที่ชัดเจนคือการนำไปสู่การลงทุนที่น้อยลงของภาคธุรกิจและผู้บริโภคจนอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวไม่รวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็นได้ (ยังไม่นับข้อเสียเรื่องการรั่วไหลออกไประหว่างทางเนื่องจากการคอร์รัปชัน?)

ผลของการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ได้แก่ ความจำเป็นในการขึ้นภาษีและการเกิดหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการลดภาษีเงินได้น่าจะส่งผลดีต่อการเติบโตในระยะยาวมากกว่า เนื่องจากมันจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในสิ่งที่เกิดผลประโยชน์สูงสุดด้วยซึ่งเป็นจุดอ่อนของการใช้จ่ายภาครัฐ

ภาษีที่ลดลงจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้เร็วขึ้นด้วยตัวของมันเองผ่านการซื้อขายสินค้าและบริการที่มากขึ้น นอกจากนี้ การลดภาษียังเป็นการเพิ่มรายได้ทางอ้อมให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและถูกใช้จ่ายกระจายตัวไปในทุกภาคส่วน ซึ่งดีกว่าการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งเงินที่มี (จากเงินภาษีของเราและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น) ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการและนักการเมือง และจะเข้ากระเป๋าของบริษัทที่รับประมูลทำโครงการต่างๆของรัฐเท่านั้น

ภาษีที่ลดลงหมายถึงการจ่ายเงินให้รัฐบาลน้อยลง ซึ่งอาจจะมองอีกมุมมองหนึ่งได้คือ ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือได้ขึ้นเงินเดือนนั่นเอง ? และผลที่ตามมาคือ การจับจ่ายใช้สอยก็จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคสิ่งของมากขึ้น การซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ เช่นรถยนต์ หรือการท่องเที่ยว และสิ่งที่ตามมาคืออุปทานส่วนเกินถูกใช้และการจ้างงานก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยการลดภาษีดังกล่าวอาจจะไม่เกิดผลก็ได้ หากพฤติกรรมของผู้ได้รับประโยชน์ไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดคิด ประชาชนอาจเลือกที่จะเก็บเงินที่ได้จากการลดภาษีดังกล่าว เช่นในเงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาลแทนที่จะนำไปใช้จ่ายเพื่อเร่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถที่จะจูงใจให้ผู้บริโภคใช้จ่ายได้ การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ชั่วคราวน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งในการเสริมให้การกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น ประเทศอังกฤษที่ลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงชั่วคราว 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลาประมาณหนึ่งปี ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ข้อดีอีกอย่างของการลดภาษีมูลค่าเพิ่มคือมาตรการนี้จะส่งผลทันที ซึ่งแตกต่างกับการลดภาษีเงินได้ที่เงินจะตกถึงมือของผู้เสียภาษีต่อเมื่อถึงรอบการชำระภาษีในปีหน้าซึ่งอาจจะช้าเกินไปและอาจส่งผลให้ผู้ได้ประโยชน์ยังไม่กล้าใช้จ่ายจนกว่าจะได้เงินจริงๆ ดังนั้น การลดภาษีดังกล่าวจึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่รัฐบาลน่าจะพิจารณานำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแทนที่มาตรการเพิ่มการลงทุนของรัฐบาลรอบที่ 2 ที่เริ่มมีการพูดถึงกันบ้างแล้วซึ่งอาจจะประสบกับปัญหาเดิมๆคือความสงสัยในเรื่องการทุจริตและความล่าช้าของกระบวนการรัฐสภาและระบบข้าราชการ

ถ้าจุดประสงค์หนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือการเพิ่มการจ้างงาน (หรือชะลอการเลิกจ้าง) การนำมาตรการภาษีซึ่งผูกกับการจ้างงานมาจูงใจนายจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทต่างๆน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจจะเสนอการลดภาษีที่ผูกกับจำนวนพนักงานเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา อาทิเช่น จำนวนพนักงานต้องไม่น้อยกว่าเดิม หรือผูกกับการจ้างงานเพิ่มของนายจ้างเพื่อเข้าข่ายการได้ลดภาษี แน่นอนว่า ข้อเสียคือเงินที่ได้จากการลดภาษีดังกล่าวเข้ากระเป๋าของนายจ้างโดยตรง แต่อีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ ก็คืออำนาจในการซื้อของผู้บริโภคโดยรวมจะไม่ถูกกระทบมากเพราะคนไม่ตกงาน นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายอื่นที่มองไม่เห็นไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก เช่น สวัสดิการสังคมหรือการก่ออาชญากรรม

ลดดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ย ไม่ได้หมายถึงเพียงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่คนออมเงินคุ้นเคยเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วอัตราดอกเบี้ยมีความหมายที่มากกว่านั้น อาทิเช่น
-อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล
-อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
-อัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือสินเชื่อลอยตัว
-อัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือสินเชื่อคงที่
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีความหมายอีกนัยหนึ่งคือต้นทุนหรือราคาของเงิน ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจึงช่วยควบคุมทิศทางการไหลเข้าออกของเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงแม้จะทำให้ผู้ออมเงินมีรายได้มากขึ้นจากดอกเบี้ยและช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ แต่มันทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจช้าลง ในทางกลับกัน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ก็มาพร้อมกับเงินเฟ้อที่มากขึ้น
-อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อหรือ CPI ลดลง หมายถึงเศรษฐกิจไม่ overheat - ดี
-แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น GDP ลดลง หมายถึงเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยลง - ไม่ดี
-อัตราดอกเบี้ยลดลง GDP เพิ่มขึ้น หมายถึงเศรษฐกิจกำลังขยายตัว - ดี
-แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยลดลง CPI เพิ่มสูงขึ้น หมายถึงเศรษฐกิจอาจจะ overheat เพราะเงินเฟ้อ - ไม่ดี

อย่างไรก็ดี การใช้นโยบายทางด้านการเงินเชิงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอาจส่งผลที่ค่อนข้างช้าในทางปฏิบัติ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งหมดจากการขึ้นลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจใช้เวลาถึง 12-18 เดือน ถ้าอัตราดอกเบี้ยไม่มีแนวโน้มลดลง ธนาคารพาณิชย์จะค่อยๆให้กู้น้อยลงเรื่อยๆ และภาคธุรกิจจะเลื่อนการลงทุนใหม่หรือเลื่อนการขยายกำลังการผลิตออกไปก่อน เช่นเดียวกันผู้บริโภคโดยทั่วไปจะเริ่มคิดได้ว่าตนเองมีอำนาจซื้อน้อยลง และจะชะลอการใช้จ่ายออกไปก่อน

ผลกระทบตรงอีกอย่างหนึ่งได้แก่ ผลกระทบต่อภาระการผ่อนสินเชื่อบ้าน ถ้าดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ภาระการจ่ายดอกเบี้ยซึ่งอิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะยังมากในภาวะที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง ถ้าต้องการจะซื้อบ้านหลังใหม่ก็อาจจะส่งผลกระทบทำให้เราต้องหันกลับมาซื้อบ้านที่ราคาถูกลงกว่าที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกหรือเลื่อนการซื้อออกไปก่อน ซึ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับสูงนานเกินไป อาจเป็นสาเหตุของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น