xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการเงินผ่านพ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะนี้ความเชื่อมั่นว่าวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้กำลังจะผ่านพ้นไปก็เริ่มมีมากขึ้น ในวงเสวนาวิชาการทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจมีการถกเถียงกันมากว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้วหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ยังไม่แน่ใจ แต่ต้องถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติการณ์ครั้งล่าสุดไปแล้ว โดยจุดต่ำสุดเกิดขึ้นในไตรมาสแรแรกของปี 2552 ที่ในช่วงนั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมในครั้งปีหลังของปี 2552 จะไม่ติดลบ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของทีนี้เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในที่สุด

สัญญาณที่ดีซึ่งทำให้ภาครัฐมั่นใจก็คือแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ภาษีโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่จัดเก็บจากภาคอสังหาริมทรัพย์ และอากรแสตมป์ ซึ่งรายได้เหล่านี้สะท้อนถึงธุรกรรมที่เกิดขึ้นในภาคการผลิตการจำหน่ายจริงที่ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีตัวเลขการว่างงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติประการศออกมาในเดือนสิงหาคมซึ่งมีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 1 ของกำลังแรงงานหรือราวๆ สี่แสนคน ถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ไว้มาก (หากยังจำกันได้ว่าเมื่อตอนต้นปีนั้นสภาอุตสาหกรรมฯ ได้คาดว่าจะมีผู้ว่างงานถึงหนึ่งล้านคน) อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคล่าสุดในเดือนกันยายนก็ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากต้นปี แสดงให้เห็นว่าในมุมมองของผู้บริโภคมีความมั่นใจต่ออนาคตเศรษฐกิจมากขึ้น ในด้านการส่งออกแม้จะมีการหดตัวลงอย่างรุนแรงแต่ก็ทุเลาลงแล้ว และมีข่าวดีจากสภาหอการค้าไทยที่แจ้งว่ามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาแล้วจนถึงต้นปีหน้า

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือไม่ใช่ว่าทุกสาขาเศรษฐกิจจะปรับตัวกลับเข้าสู่จุดเดิมก่อนจะเกิดวิกฤติ เช่น การบริโภค การลงทุน รวมทั้งการนำเข้าและส่งออก ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ห่างไกลเมื่อเทียบกับปี 2551 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังต้องเยียวยาอีกมาก จากนี้ไปเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้วคงจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องจากความมั่งคั่งของประชาชนผู้บริโภคลดลงมากและสถาบันการเงินก็มีหนี้ท่วม ซึ่งเป็นข้อจำกัดของภาคส่งออกของประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยในการส่งสินค้าไปยังตลาดเหล่านี้ และก็เชื่อว่าทางการไทยตระหนักถึงปัญหานี้จึงได้เร่งขยายตลาดไปยังประเทศที่มีศักยภาพใหม่ๆ มาทดแทน โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนที่จะต้องพึ่งพากันเองให้มากขึ้น

การปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตในภาคอุปทาน พบว่าในภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นความต้องการซื้อสินค้ามีน้อยกว่าระดับการผลิต สินค้าผลิตออกมาขายไม่ได้จึงมีสต็อกคงค้างเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องการขยายการลงทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือเพิ่มรายจ่ายสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางกายภาพไม่ได้รับการพัฒนา แม้ภาครัฐได้เข้ามาทดแทนการลงทุนบางส่วนของเอกชน โดยการใช้มาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้บทบาทของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้นผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ (โครงการภายใต้ SP1 และไทยเข้มแข็ง) และการใช้สถาบันการเงินของรัฐเป็นกลไกผลักดันสินเชื่อเข้าสู่ระบบ แต่ก็เป็นการเร่งใช้เงินในโครงการระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ และไม่ได้ตอบโจทย์ระยะยาวว่าจะเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศอย่างไร ดังนั้นเมื่อหมดความจำเป็นต้องพยุงโดยภาครัฐแล้วรายจ่ายเหล่านี้ก็ต้องทยอยลดลงเพื่อให้กลไกตลาดทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรแทน แต่โครงสร้างภาคการผลิตก็คงไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไร ต่อเมื่อการบริโภคภาคเอกชนกลับคืนมาการลงทุนเพื่อรองรับการบริโภคและการผลิตและการจ้างงานก็จะตามมาโดยลำดับ

**ผลพวงของนโยบายการคลังนั้นได้สร้างภาระหนี้สาธารณะก้อนโตขึ้น (ทางการคาดการณ์ว่าจะสูงสุดถึงร้อยละ 61 ของ GDP ในปี 2556) การบริหารจัดการหนี้ การสรรหาแหล่งรายได้เพื่อมาชดใช้หนี้ การดูแลฐานะการคลังในอนาคตจะเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ค่อยได้รับทราบถึงขั้นตอนวิธีการในการลดภาระหนี้ของประเทศ**

**ในความเห็นของผู้เขียนวิกฤติครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์หลายเรื่อง เช่น ความแข็งแกร่งของระบบการเงินไทย และศักยภาพของระบบการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) สถาบันการเงินพาณิชย์ไทยความสามารถยืนหยัดได้ด้วยที่มีวินัยทางการเงินและระมันระวังในการให้สินเชื่อในการส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะได้รับบทเรียนมากแล้วจากปี 2540 นอกจากนี้กลไกของราชการแม้จะถูกวิจารณ์ว่าล่ช้าด้อยประสิทธิภาพแต่ก็สามารถนำพาประเทศให้ผ่านวิกฤติมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยที่การเมืองมั่นคงหรือย่ำแย่เท่าไรก็ตาม**
กำลังโหลดความคิดเห็น