xs
xsm
sm
md
lg

เอเชีย-ไทยรับอานิสงส์แดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 “การส่งออกของประเทศเอเชียและไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจในประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน”

จากการประกาศมาตรการควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อและการผลิตส่วนเกินของทางการจีนได้สร้างความกังวลในระยะแรกให้กับนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและบทบาทของจีนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นของจีนเดือนสิงหาคมร่วงลงกว่าร้อยละ 20 หลังจากที่พุ่งขึ้นร้อยละ 100 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 แต่หลังจากการประกาศดัชนีเศรษฐกิจของจีนที่สะท้อนการปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการจัดซื้อในภาคการผลิตของจีน (PMI) ในเดือนสิงหาคมที่ประกาศในวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ยังคงขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาและทำให้ดัชนีตลาดหุ้นของจีน รวมทั้งตลาดหุ้นเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และออสเตรเลีย ฟื้นขึ้นมาในแดนบวกในวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากติดลบในช่วงก่อนหน้านี้ตามตลาดหุ้นจีน 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะต้องจับตามองต่อไป ได้แก่ ความเป็นไปได้ที่ทางการจีนอาจจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะต่อไปเพื่อควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจและป้องกันการเกิดภาวะฟองสบู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแกว่งตัวในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้นการหวังพึ่งพาเศรษฐกิจจีนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคจึงทำให้นักลงทุนหรือผู้เกี่ยวข้องทั้งในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนของราคาหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเลี่ยงได้ยาก
การควบคุมการผลิตส่วนเกินและมาตรการชะลอการขยายตัวของ สินเชื่อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ของทางการจีน บ่งชี้ถึงการให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจจีนเพื่อให้อัตราการขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 8 ในปีนี้ ซึ่งมาตรการการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนน่าจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้นและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งนี้ สัญญาณการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนอย่างต่อเนื่องในเดือนสิงหาคมนี้ได้ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นกับทางการจีนในการดำเนินแผนการควบคุมการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่ทางการจีนยังคงควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อโดยผลักดันให้การปล่อยกู้ของภาคธนาคารเข้าไปสู่โครงการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งจะ ช่วยลดการเก็งกำไรในตลาดสินทรัพย์ ส่วนข้อกำหนดให้ธนาคารเพิ่มเงินสำรองของธนาคารเป็นร้อยละ 150 ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ภายในสิ้นปี 2552 น่าจะช่วยชะลอการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อและเพิ่มคุณภาพของสินเชื่อในภาคการธนาคาร รวมทั้งลดความเสี่ยงของการเกิดหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่นายกรัฐมนตรีของจีนยังคงย้ำถึงการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน นอกจากนี้ การควบคุมความร้อนแรงของตลาดสินทรัพย์ยังช่วยลดการเก็งกำไรซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระดับราคาในประเทศในระยะต่อไป แม้ว่าในปัจจุบันระดับราคาในจีนซึ่งวัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภคยังอยู่ในแดนลบและมีอัตราติดลบเร่งขึ้นก็ตาม แต่สัญญาณบวกของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
การส่งออกของประเทศเอเชียและไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจในประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เช่น ลดภาษีค้าปลีกสำหรับการซื้อรถยนต์ การให้เงินอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ประกอบกับมาตรการของทางการจีนที่ควบคุมดูแลการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ภายในประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อที่พุ่งสูงและการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมบางสาขา น่าจะยังคงส่งผลให้ความต้องการภายในของจีนมีเสถียรภาพและมีความต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะช่วยขับเคลื่อนภาคส่งออกของประเทศในเอเชียและไทยในปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้แล้ว ยังจะสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกของเอเชียและไทยในระยะยาวด้วย
นอกจากนี้ภาคส่งออกของจีนน่าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มแกนหลักของโลกอย่างสหรัฐฯ กลุ่มยูโรและญี่ปุ่นที่ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่ายังมีปัญหาการว่างงานที่ยังคงกดดันภาคการบริโภคให้อ่อนแรง แต่มาตรการกระตุ้นการบริโภคของทั้งสามประเทศได้ส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการบริโภคกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัว สะท้อนจากดัชนีการจัดซื้อในภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมอยู่ในระดับเกิน 50 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ปัจจัยบวกจากทั้งการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจกลุ่มแกนหลักของโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในจีนน่าจะส่งผลขับเคลื่อนความต้องการนำเข้าของจีนจากประเทศเอเชียและไทยทั้งเพื่อผลิตสินค้าส่งออกและใช้ผลิตสนองความต้องการภายใน ให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย หลังจากที่การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมต้องเผชิญกับการกลับมาหดตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 (YoY) หลังจากที่อัตราติดลบชะลอลงต่อเนื่องติดต่อกันมา 5 เดือนก่อนหน้า

ข้อมูล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น