xs
xsm
sm
md
lg

จีน...ไปต่อก็เสี่ยง-หยุดนิ่งก็ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย่างที่รู้กันว่า เศรษฐกิจเป็นผลลัพธ์ของคนหมู่มาก เมื่อใดก็ตามที่คนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจดี การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนย่อมเกิดขึ้นตามมา แต่เมื่อใดก็ตามที่คนมองว่าเศรษฐกิจ “ดีเกินจริง” ก็ถึงเวลาที่ผู้ลงทุนที่ดีจะต้องเตรียมรับมือกับวิกฤติศรัทธาที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา

สุพรรณ เศษธะพานิช ผู้อำนวยการ ฝ่ายการลงทุน บลจ.ยูไนเต็ด จำกัด หรือ UAM ได้เล่าว่า จากทฤษฏีเศรษฐศาสตร์คลาสสิก (Classical Economic Growth Theory) ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการปล่อยกู้และรายได้ประชาชาติ (GDP) เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธ และมีการพิสูจน์กันออกมาอย่างกว้างขวางแล้วว่า เมื่อมีการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นนั้น การลงทุนย่อมเกิดขึ้นตามมา โดยจะไปเพิ่มในส่วนของภาคการผลิต ทำให้มีการจ้างงานสูงขึ้นและทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นนั่นเอง

โดยจากผลตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ประกาศออกมาหลายๆตัวนั้น ทำให้ขณะนี้ ประเทศจีนเป็นที่เลื่องลือกันอย่างกว้างขวางว่า จะเป็นมังกรที่จะพาเศรษฐกิจโลกให้ขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงในครั้งนี้ได้

จากตัวเลขที่เพิ่งประกาศออกล่าสุดนั้น การปล่อยกู้ของจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยการปล่อยกู้ใหม่ในเดือนมิถุนายนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.53 พันล้าน RMB ทำให้ยอดการปล่อยกู้รวมอยู่ที่ 37.745พันล้าน RMBเทียบกับเมื่อต้นปีอยู่ที่ 30.339พันล้าน RMB หรือนับเป็นการเติบโตสูงถึง 36.74เปอร์เซ็นต์ นับแต่ต้นปี2009เทียบกับของไทยนั้น การปล่อยกู้บ้านเราโตเพียง2.04เปอร์เซ็นต์นับแต่ต้นปี ซึ่งเมื่อนำเปอร์เซ็นต์มาเทียบกับจีนแล้ว จีนมีการปล่อยกู้ที่เติบโตเร็วกว่าไทยหลายเท่าทีเดียว

นอกจากนี้ ตัวเลขภาคเศรษฐกิจจริงของจีนหลายๆตัวก็แสดงการปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตัวเลขที่เป็นที่จับตามองก็คือ ภาคการลงทุน; FAI (Fixed Asset Investment) และภาคการผลิต; PMI (Production Manufacturing Index) ซึ่งตัวเลขทั้งสองนี้แสดงการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ ตัวเลขภาคการลงทุนที่มีการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 33.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการเติบโตที่เร่งจากเดือนที่แล้วที่มีการเติบโตอยู่ที่ 32.90เปอร์เซ็นต์ และผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตและภาคการลงทุนนั้น เป็นผลทำให้รายได้ประชาชาติของจีนยังคงเป็นบวกอยู่ได้ที่ 6.1เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับอดีตที่มีการเติบโตอยู่เกือบ 2 หลัก แต่ว่าหากเทียบกับประเทศอื่นแล้ว จีนยังนับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี

สุพรรณ
เล่าอีกว่า แม้ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกถึงการการเตื้องขึ้นมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกของจีน แต่หากดูส่วนประกอบของการเติบโตนั้นจะพบว่าน่าใจหายพอควร

ประเด็นแรก การเติบโตนั้นถูกขับเคลื่อนโดยรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งสังเกตได้จากสัดส่วนของภาคการลงทุน ที่ส่วนใหญ่ได้รับอานิสงค์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีมูลค่ามากถึง 4 ล้านล้าน RMB โดยผลนั้นเห็นได้ชัดเจนในตัวเลขการลงทุนด้านการขนส่งมวลชนในเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้นถึง126.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การลงทุนในด้านอุตสาหกรรมการผลิตนั้น โตเพียง29.0 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ การใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ การลงทุนในโครงการใหม่นั้นเติบโตถึง 87.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การผลิตเดิมยังมีกำลังการผลิตที่ว่างอยู่ถึงครึ่งหนึ่ง (50.06 เปอร์เซ็นต์) ผลลัพธ์จากการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ไปนั้นจะส่งผลกดดันต่ออัตราการใช้กำลังการผลิตเดิม และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายหากรัฐบาลลดการใช้จ่ายลง

ทั้งนี้ การว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ แม้จะมีการลงทุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่ว่าการผลิตเดิมยังว่างอยู่ ดังนั้นโรงงานจึงไม่จำเป็นต้องจ้างคนงานเพิ่มแต่อย่างใด

"การปล่อยกู้ที่เพิ่มขึ้นเร็วเกินไปอาจนำมาซึ่งหนี้เสียจำนวนมาก เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าระบบธนาคารของจีนนั้นพัฒนารองรับการเติบโตของสินเชื่อที่รวดเร็วขนาดนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อนั้นรวดเร็วมากกว่าฐานเงินเป็นเท่าตัวแล้วในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา นับแต่ต้นปีนั้น ทางจีนได้ปล่อยกู้ไปแล้วทั้งสิ้น 7.406 พันล้าน RMB ไปแล้ว ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งไว้เพียง 5 พันล้าน RMB เท่านั้น"

สุพรรณ ยังกล่าวอีกว่า เงินที่ท่วมระบบอาจสร้างภาวะฟองสบู่ได้ แม้ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในจีนนั้นยังไม่เป็นตัวเป็นตนแน่ชัดเพราะอัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม หากดูปริมาณเงิน(M2) ในระบบนั้น จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นถึง 28.39 เปอร์เซ็นต์และหากนำมาเทียบกับ GDP จะพบว่า ปริมาณเงินเมื่อเทียบกับอัตราเติบโตของGDPนั้นเพิ่มสูงมากจากการไหลเวียนของเงินในระบบผ่านการขยายการกู้ ซึ่งการที่มีเงินล้นระบบเช่นนี้นานๆนั้น อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ในที่สุด

โดยหากพิจารณาการเติบโตของจีนอย่างถี่ถ้วนแล้ว ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า การเติบโตของจีนนั้นเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เปราะบาง เพราะมีความเสี่ยงที่จะต้องพบกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ภาวะว่างงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และภาวะหนี้เสียที่อาจทำลายความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจทั้งระบบซึ่งเปรียบได้กับเศรษฐกิจที่อยู่บนหลังเสือนั่นเอง เพราะหากพิจารณาทางออกแล้ว หากรัฐบาลตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจอีก1-2 ปีนั้น อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ง่ายๆจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่คุมไม่อยู่ แต่ถ้าหากรัฐบาลหยุดการกระตุ้นทันทีจะทำให้เกิดการหดตัวของอุปสงค์อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ แม้รัฐบาลค่อยๆลดการกระตุ้นนั้นก็ยากที่จะช่วยออกจากสถานการณ์นี้ได้ เพราะท้ายที่สุด การว่างงานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราการผลิตที่ลดลงเนื่องจากขาดอุปสงค์ และยังมีโครงการค้างท่อใหม่ๆมากมายทั้งจากเอกชนและรัฐบาลที่จะเพิ่มกำลังการผลิตมากดดันการผลิตเก่าลงไปอีก ดังนั้น ขณะที่หลายๆคนกำลังมองว่าเศรษฐกิจจีนกำลังไปได้สวย แต่เราเห็นว่าการที่เศรษฐกิจฟื้นมาได้รวดเร็วขนาดนี้ ไม่ได้มาจากรากฐานที่แข็งแรงและมีโอกาสที่จะล้มลงสูงมาก เพียงแต่ว่าจะสามารถหาที่ลงได้นิ่มนวลแค่ไหนและเมื่อใดเท่านั้นเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น