เข้าใกล้ช่วงสิ้นปีเข้ามาเรื่อยๆแล้ว เชื่อว่าท่านนักลงทุนทั้งหลาย คงรอดูเรื่องเศรษฐกิจกันว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน จะดีขึ้นคามความหวังที่หลายๆคน ตั้งไว้หรือไม่ เอาเป็นว่าสำหรับใครที่ยังยังไม่มีข้อมูล "ASTVผู้จัดการกองทุนรวม" มีสรุปภาวะการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงเดือนสิงหาคม จาก ไมค์ เทอร์เนอร์ หัวหน้าฝ่ายวางแผนและจัดสรรการลงทุนโลก อเบอร์ดีน แอสเสท แมเนเจอร์ส ลิมิเต็ด มาฝากกัน...
แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาด
ดัชนีภาคอุตสาหกรรมของโลกกำลังเข้าสู่เสถียรภาพจากที่ทรุดลงในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และดูเหมือนจะปรับตัวขึ้นได้จากการกักตุนสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจในช่วงเข้าสู่ครึ่งหลังของปี ประกอบกับภาครัฐมีการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ประเทศใหญ่สามารถมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เติบโตขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดลงของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด
โดย สหรัฐอเมริกา นั้นภาคเอกชนยังมีอุปสงค์ในระดับต่ำ แต่อาจแฝงสัญญาณของการฟื้นตัวอยู่ด้วยก็เป็นได้ ซึ่งกิจกรรมการซื้อขายบ้านปรับตัวดีขึ้นพอประมาณ ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยราคาบ้านตามดัชนี เคส-ชิลเลอร์ ปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสามปี แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามาตรการจูงใจผู้ซื้อบ้านในเชิงภาษีจะมีผลมากเท่าใด ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับต่ำ และจำนวนการว่างงานยังคงมีสูง
ส่วนราคาพลังงานยังคงเป็นปัจจัยคุกคามการบริโภค เช่นเดียวกับการปรับขึ้นเงื่อนไขของการปล่อยกู้จากธนาคาร และอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังดูดีต่อไปจนขึ้นปี 2553 แล้ว แม้ว่าจะมีข้อสงสัยถึงระดับความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวก็ตาม
ด้าน ยุโรปรวมถึงสหราชอาณาจักร พบว่า วงจรธุรกิจในสหราชอาณาจักรยังตามหลังสหรัฐฯ ภาคการผลิตในสหราชอาณาจักรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าภาคการบริการมาก ดังนั้นสหราชอาณาจักรจะไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตของโลก ทั้งนี้ภาคการบริการทางการเงินเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดของผลผลิตจากภาคการบริการทั้งหมดของสหราชอาณาจักร ประกอบกับผลกำไรจากธุรกิจบริการทั้งหมดเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว จึงยังจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่รายได้และการจ้างงานจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว อย่างไรก็ตาม อุปสงค์กำลังฟื้นตัวขึ้น พร้อมกับมีสัญญาณที่เพิ่งเริ่มต้นของการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยของยุโรป
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมีความคล้ายกับเขตเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งกำลังประสบกับการลดลงมากของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยยอดขายปลีกในเดือนพฤษภาคมปรับลดลงเป็นเดือนที่เก้าติดต่อกัน เนื่องจากอัตราค่าจ้างตกต่ำลงมากที่สุดในรอบสองทศวรรษ โดยลดลงไปแล้ว 7% จากปีที่แล้ว สินค้าคงคลังของภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับสูง แสดงถึงแนวโน้มในระยะสั้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งจะไม่ดีเท่าประเทศอื่น
เอเชียและกลุ่มตลาดเกิดใหม่
ในเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนทรงตัวในระดับเดิมในเดือนกรกฎาคม แต่มีการเปลี่ยนแลงในองค์ประกอบของดัชนี โดยแสดงการเติบโตที่ย้ายจากการลงทุนด้านโครงการพื้นฐาน มาอยู่ที่การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและการส่งออก การเติบโตของจีนจะยังคงมีอิทธิพลต่อประเทศอื่นๆในเอเชียต่อไป
พันธบัตรรัฐบาล
สำหรับภาคการลงทุนนั้นการซื้อขายพันธบัตรระยะยาวของประเทศในกลุ่ม G7 ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ห่างกันมากระหว่าง 3-4% ยกเว้นพันธบัตรญี่ปุ่น ในระยะใกล้นี้เป็นเรื่องยากที่ความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจะหลุดจากกรอบนี้ ซึ่งในเวลาต่อไป จะเป็นการชี้นำว่าพันธบัตรระยะสั้นมูลค่าจะปรับตัวขึ้นสูงและพันธบัตรระยะยาวมูลค่าจะปรับตัวลดลง ส่วนในช่วงระยะปานกลางต่อไปตลาดพันธบัตรรัฐบาลน่าจะยิ่งรับแรงกดดันด้านปริมาณพันธบัตรออกใหม่มากขึ้น เนื่องจากนักการเมืองในสภาจะใช้เวลานานในการแก้ไขงบประมาณให้สมดุล กรณีนี้มีความใกล้เคียงเป็นพิเศษกับสหราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งที่จะตามมาได้แก่การปรับตัวในลักษณะชันขึ้นของเส้นเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรอังกฤษ
ตราสารหนี้กลุ่มตลาดเกิดใหม่
ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่สูงกว่าของพันธบัตรสหรัฐฯยังคงปรับลดลงในเดือนกรกฎาคม โดยพันธบัตรกลุ่มที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า และมีความเสี่ยงมากกว่าปรับขึ้นสูงสุด ทั้งนี้พบว่ามูลค่าปรับขึ้นในตลาดพันธบัตรที่เป็นสกุลเงินท้องถิ่นมากกว่าในตลาดที่เป็นสกุลเงินหลักของโลก และคาดว่าส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่สูงกว่าของพันธบัตรสหรัฐฯจะยิ่งปรับลดลงในระยะสิ้นปี แม้ว่าการปรับฐานราคาทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ก็ตาม
ตราสารทุน
สำหรับตลาดหุ้นนั้น ดูเหมือนจะปรับตัวขึ้นไปล่วงหน้าก่อนการปรับขึ้นของปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจมหภาค จนทำให้ผู้สันทัดกรณีหลายท่านเกิดความสงสัยเกี่ยวกับมูลค่าที่ซื้อขายในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ในช่วงก่อหน้านี้ ได้มองว่าตลาดหุ้นไม่ได้อยู่ในระดับราคาถูกหรือแพงข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไร ที่อยู่ในช่วงใกล้กับค่าเฉลี่ยย้อนหลังระยะยาวของหุ้นนั้น ซึ่งหมายถึงมีการเติบโตของกำไรในระดับปานกลาง และตลาดหุ้นของโลกก็ยังคงมีลักษณะเช่นนี้ แม้ว่าตลาดหุ้นของบางประเทศหรือในบางภูมิภาคดูเหมือนจะถูกปั่นราคามากเกินไป ซึ่งแสดงว่าเกิดภาวะฟองสบู่ เช่น ตลาดหุ้นจีน เป็นต้น ซึ่งราคาของหุ้นใหม่ที่เพิ่งเปิดขายต่อสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้ มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร ถีบตัวไปถึง 50 เท่าหรือมากกว่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่อันตราย
ทั้งนี้ มองว่าสภาพคล่องที่มีอยู่อย่างมากมายในตลาดนั้นทำให้ราคาตราสารทางการเงินปรับขึ้นมากอีกครั้งและคาดว่ายังไม่น่าจะหมดไปจนกว่าจะล่วงเข้าปี 2553 ไปพอสมควร ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงจะยังสามารถปรับขึ้นได้ต่อไปใน 18 เดือนต่อจากนี้ แต่ตลาดยังเต็มไปด้วยความกังวลที่จะต้องก้าวข้าม และจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปรับฐานราคาได้ในระดับที่สมเหตุสมผล
ดังนั้น จึงเชื่อว่าขณะนี้กำลังเข้าใกล้การปรับขึ้นของตลาดตามการปรับขึ้นของดัชนี S&P500 ในระยะสั้น ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1000 -1,050 จุด แต่สภาพคล่องยังไม่ได้ลงลึกเข้าไปในภาคเศรษฐกิจจริง อย่างที่น่าจะเป็น (เช่น การกระตุ้นอุปสงค์ของภาคเอกชน) แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับฐานราคาก็อาจจะไม่มาก
ทางด้านกำไร นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่ากำไรขององค์กรธุรกิจออกมาดีกว่าการคาดการณ์ จากการลดต้นทุนอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้กำไรส่วนต่างเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ประเด็นสำคัญคือยอดขายมีการเติบโตขึ้นแล้วหรือยัง หากเศรษฐกิจโลกขยายตัวจริง ซึ่งมีทีท่าว่าจะเป็นไปได้มากขึ้น เมื่อนั้นกำไรของภาคธุรกิจก็อาจจะเติบโตในระดับสูงจนเกินการคาดการณ์ของนักลงทุน