xs
xsm
sm
md
lg

“โฆสิต” เตือนรับมือจุดเปลี่ยน ศก.โลก เอกชนต้องยืนบนขาของตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โฆสิต” แนะภาคอุตฯ เร่งปรับตัวรับจุดเปลี่ยน ศก.โลก แนะทบทวนพึ่งพาการส่งออกตลาดสหรัฐฯ “พารณ” เตือนผู้ประกอบการ ต้องหัดยืนบนขาของตัวเอง ลดการพึ่งพาจากภาครัฐ พร้อมแนะ กกร.ต้องเป็นตัวแทนผลักดันการแก้ไข กม.ที่ล้าหลัง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยระบุว่า การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า ยอมรับภาคอุตสาหกรรมยังเป็นสิ่งสำคัญในการรองรับการจ้างงาน เพราะการจ้างงานเพื่อให้คนมีงานทำถือเป็นสิ่งสำคัญต่อสังคม

นายโฆสิต กล่าวว่า ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ยังมุ่งเน้นการรักษาระดับการจ้างงาน อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน แม้จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงก็ยังให้ความสำคัญในเรื่องการจ้างงาน เพราะภาคอุตสาหกรรมมีบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญลงไปถึงการใช้แรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งรวมให้คนมีความรู้ทุกระดับมาอยู่ร่วมกัน จึงต้องสร้างภาคอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้มีงานทำ

“ก่อนหน้านี้ ไทยยังเน้นการพึงพาการส่งออก เพื่อทำรายได้เข้าประเทศ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง เพราะประเทศอุตสาหกรรมหลัก เช่น สหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่า เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และของประเทศต่างๆ ให้ขยายตัว”

ขณะนี้ เศรษฐกิจมีปัญหาโดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และปัญหาการใช้จ่ายด้านอื่นๆ ของภาคครัวเรือนและภาครัฐ ทำให้อีก 1-2 ปี คงไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ จึงมีการพูดกันว่าต้องมีประเทศอุตสาหกรรมอื่น เช่น จีน หรือประเทศพัฒนาแล้วมีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ไทยจะต้องทบทวนนโยบายพึ่งพาการส่งออกจากสหรัฐฯ เป็นหลัก

ด้าน นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานกิตติมศักดิ์ ส.อ.ท.กล่าวว่า การจะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ ต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และต้องเรียนรู้เร็วกว่าคู่แข่ง แต่หากไม่ต้องการแข่งขันกับประเทศใด ก็ต้องเก็บตัวเหมือนประเทศพม่า ที่สำคัญ จะต้องหาศักยภาพที่เป็นจุดเด่นของไทยเข้ามาพัฒนา เพื่อสู้กับต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งไทยมีศักยภาพอย่างมาก เพราะมีพื้นที่และแรงงานผลิตอาหารป้อนตลาดโลก เช่น การเลี้ยงกุ้ง ซึ่งสามารถผลิตและส่งออกได้ดี

นอกจากนี้ ยังรวมถึงวัฒนธรรมของไทย ซึ่งเป็นคนอ่อนน้อมต้อนรับต่างชาติทุกประเทศ อุตสาหกรรมบริการจึงมีศักยภาพมาก ทำให้หลายประเทศไม่สามารถแข่งขันได้ จึงควรดึงจุดเด่นเหล่านี้มาจัดทำยุทธศาสตร์หลัก เพราะประเทศอื่นไม่สามารถแข่งขันได้ และองค์กรต่างๆ ต้องปรับปรุงเรียนรู้ตลอดเวลา เห็นได้จากบริษัท เชลล์ ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมัน ซึ่งตั้งมาแล้ว 200 ปี ยังสามารถยืนอยู่บนตลาดโลกได้ เพราะมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ขณะที่บริษัทอื่นที่ตั้งมาพร้อมกันหลายแห่งล้มหายตายจากไปแล้ว ดังนั้น องค์กรในภาคอุตสาหกรรมที่จะอยู่ได้ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายพารณ กล่าวอีกว่า ภาคอุตสาหกรรมอย่าไปหวังพึ่งภาคราชการมาก เพราะเศรษฐกิจเอกชนจะต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน เนื่องจากภาครัฐบาลเปลี่ยนแปลงบ่อย เห็นได้จากการเมืองของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภาคเอกชนจะมีการรวมตัวกันจากภาคการค้า ภาคการธนาคาร และภาคอุตสาหกรรม จนภาครัฐต้องพึงพากลุ่มดังกล่าวในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งไทยก็นำรูปแบบดังกล่าวมารวมตัวกันของ ส.อ.ท.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

ดังนั้น ในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ( กรอ.) ที่ตั้งมานานแล้วจนมาเป็นในรูปคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ต้องจับกุล่มผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่น ขณะที่ภาครัฐควรทำหน้าที่ในการแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัย เพื่อให้เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น