xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:1 ปีหลังการล้มของ Lehman Brothers : วิกฤติการเงินอาจจะยังไม่จบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤติการเงินสหรัฐฯที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่ปี 2550 และเข้าสู่จุดสูงสุดเมื่อวาณิชธนกิจใหญ่อันดับ4 คือ Lehman Brothers ล้มละลายเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสาธารณชนและแวดวงตลาดการเงินเป็นอย่างมาก จนรัฐบาลสหรัฐฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประกาศเพิ่มการค้ำประกันเงินฝาก รวมไปถึงธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกก็ต้องประกาศค้ำประกันเงินฝากทั้งระบบ ต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม 2551 ธนาคารกลาง 8 ประเทศรวมสหรัฐฯ ร่วมมือกันลดดอกเบี้ยนโยบายลงพร้อมกัน และมีมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน จนกระทั่งความวิตกกังวลและปัญหาสภาพคล่องบรรเทาลง นอกจากนั้นหลายประเทศต่างก็ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของตน ผลจากมาตรการทั้งหลายทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯและประเทศพัฒนาแล้วเกือบทั่วโลกกำลังเข้าสู่การฟื้นตัว อย่างไรก็ตามจากปัจจัยหลายประการ ผมยังเชื่อว่าวิกฤติการเงินยังไม่จบง่ายๆ และอาจจะกลับมาอีก

สัญญาณที่ว่าวิกฤติการเงินบรรเทาลงมากจนเกือบปกติ ดูได้จากการลดลงของมูลค่าตราสารหนี้และสินทรัพย์อื่นๆ ของภาคเอกชนที่ถือไว้โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งลดลงจาก 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2551 เหลือประมาณ 560,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 17 กันยายน 2552 แสดงว่าปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงินปรับตัวดีขึ้นทำให้ไม่ต้องกู้เงินจาก Fed เพิ่มเติม และมีการทยอยคืนเงินต้นและนำสินทรัพย์ที่ค้ำประกันไว้กับ Fed กลับคืน นอกจากนี้เรายังดูได้จากการปรับตัวของ TED Spread ซี่งเป็นดัชนีที่สะท?อนสภาพคล?องและความเสี่ยงการผิดนัดชําระหนี้ในตลาดเงิน ซึ่งปัจจุบัน TED Spread ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร และปอนด์ได้ลดลงจนใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติแล้ว แสดงว่าความเชื่อมั่นในตลาดเงินเริ่มฟื้นและมองว่าความเสี่ยงลดลง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศก็มีสัญญาณฟื้นตัว จึงเริ่มมีการคาดว่าวิกฤติการเงินได้จบลงแล้ว

ทว่า ผมกลับมีความเห็นว่าวิกฤติการเงินยังไม่จบเพียงแต่บรรเทาลง ด้วยสาเหตุ 3 ประการ

ประการที่ 1
หนี้เสียในปัจจุบันยังไม่ถึงระดับสูงสุด ในกรณีสหรัฐฯ หนี้เสียประเภทอื่นๆ ได้แก่ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาส 1/2552 และคาดว่าจะเข้าสู่ระดับสูงสุดกลางปีหน้า ผมเชื่อว่าผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress test) ของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่คาดว่าต้องมีการเพิ่มทุนอีก 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะไม่เพียงพอ ขณะที่ในยุโรปซึ่งติดเชื้อวิกฤติการเงินด้วยแต่สถาบันการเงินมีปัญหารุนแรงกว่า และยังไม่มีประเทศใดที่ทำ Stress Test (ยกเว้นอังกฤษแต่ก็ไม่ได้ประกาศผลให้สาธารณชนทราบ) ผมเชื่อว่าสถาบันการเงินของทั้งสหรัฐฯและยุโรปยังต้องเพิ่มทุนอีกมาก จึงจะเพียงพอที่จะประกอบธุรกิจตามปกติได้

ประการที่ 2 โครงสร้างของแหล่งเงินทุน (Source of fund) ธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรปรวมกันมีการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ประมาณ 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในภาวะที่ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับสูง และการ Refinance ทำได้จำกัดในปัจจุบัน เมื่อตราสารหนี้เหล่านั้นหมดอายุลง รัฐบาลของประเทศเหล่านี้อาจจะต้องค้ำประกันเงินกู้ต่อไปอีก แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นการยาก เพราะทั้งรัฐบาลสหรัฐฯและยุโรปได้ปล่อยสินเชื่อและค้ำประกันให้แก่สถาบันการเงินไปแล้วเป็นเงินสูงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประการสุดท้าย สถาบันการเงินขนาดใหญ่เริ่มกลับมาทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น การเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์และการค้าตราสารอนุพันธ์ เนื่องจากมีกำไรสูงมากและคู่แข่งที่เป็นสถาบันการเงินขนาดเล็กและกลางได้ล้มหายตายจากไป จากการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลที่เลือกช่วยสถาบันการเงินขนาดใหญ่นิตยสาร The Economist (12 กันยายน 2552) สรุปว่าภายหลังวิกฤติการเงิน ทรัพย์สินของสถาบันการเงินหลังปรับความเสี่ยงและหักสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจจริงไม่ลดลง ทว่ากลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับปี 2548 แสดงว่าธนาคารขนาดใหญ่ยังไม่ได้ลดการลงทุนที่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ แม้จะมีการกล่าวกันว่าต้องมีการปรับปรุงการกำกับดูแลสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็ยังไม่มีการลงมือจริงจังแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่มีการควบคุมการจ่ายโบนัสแก่ผู้บริหารของสถาบันการเงินที่สูงมากอย่างผิดธรรมชาติ เช่น กรณี Lehman Brothers มีการจ่ายโบนัสสูงถึง 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1 ใน 3 ของส่วนของทุน (Equity) ของบริษัทก่อนที่จะล้มละลาย ขณะที่ Morgan Stanley ก็สัญญาว่าจะจ่ายโบนัสในไตรมาสที่ผ่านมาสูงถึงขนาดเท่าๆ กับมูลค่าการขาดทุนของบริษัท

แม้วิกฤติการเงินผ่านไปแล้ว 1 ปี และมีสัญญาณว่าใกล้จะจบลง แต่ยังมีปัญหาต่างๆ อีกมากที่ต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้วิกฤติกลับมาอีกครั้ง ทว่ายังไม่มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบกำกับดูแลสถาบันการเงิน ประเด็นสำคัญก็คือ พฤติกรรมในการลงทุนที่มีความเสี่ยงและการจ่ายโบนัสที่ไม่สมเหตุผลของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับโครงสร้างเงินทุนที่ผิดปกติ ผมจึงขอสรุปว่าหลังจากการล้มละลายของ Lehman Brothers มา 1 ปี วิกฤติการเงินยังไม่จบ และปัญหาพื้นฐานก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

                                                        bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น