xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเอเชียให้เลิกหนุนส่งออก-ประธานเฟดย้ำ‘เสียสมดุลโลก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี – เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวเตือนในวันจันทร์ (19) ว่า หากชาติเอเชียยังคงเดินหน้านโยบายส่งเสริมการส่งออก และสหรัฐฯยังคงขาดดุลงบประมาณอย่างมโหฬารแล้ว ก็จะเป็นการหล่อเลี้ยงเติมเชื้อให้ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของโลกยิ่งหนักหน่วงต่อไปอีก สภาพเช่นนี้ถ้าไม่รีบแก้ไขแล้ว ก็จะทำให้โลกไม่สามารถเข้าสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนมั่นคงได้

ในปาฐกถาที่เป็นการแสดงความสนับสนุนข้อเรียกร้องเมื่อเร็วๆ นี้ของบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ จี 20 ให้ปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลกกันเสียใหม่ เบอร์นันกีบอกว่า ประเทศในเอเชียอย่างเช่น จีน ซึ่งได้เปรียบดุลการค้าอย่างมหาศาล ควรที่จะหามาตรการลดทอนการออมเงินจนเกินสมควร และส่งเสริมการบริโภค

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็จำเป็นจะต้องเพิ่มการออม และ “ลดการขาดดุลของรัฐบาลกลางลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในเวลาต่อไป” เบอร์นันกีกล่าวต่อที่ประชุมสัมมนาว่าด้วยเอเชีย ซึ่งอุปถัมภ์โดยธนาคารกลางสหรัฐฯสาขาซานฟรานซิสโก

เขาบอกต่อไปว่า ขณะที่ความไม่สมดุลทางการรค้าได้เริ่มลดต่ำลง โดยที่ภาคครัวเรือนสหรัฐฯมีการออมสูงขึ้น สืบเนื่องจากเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงได้ทำให้ทรัพย์สมบัติของพวกเขาหดหายไปมาก แต่เขาก็เตือนว่า ภาวะไร้สมดุลยังอาจหวนคืนมาอีกเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และปริมาณการค้ากลับสูงขึ้นใหม่

ประธานเฟดพูดย้ำข้อเรียกร้องเดิมๆ ของสหรัฐฯที่ว่า การที่พวกประเทศเอเชียใช้นโยบายที่เป็นการส่งเสริมการส่งออก และสนับสนุนการอดออมมากกว่าการใช้จ่าย คือปัญหาที่น่าเป็นห่วง

“การได้เปรียบดุลการค้า ซึ่งได้มาด้วยการใช้นโยบายที่เป็นแรงจูงใจเทียมเพื่อให้เกิดการออมภายในประเทศ และให้เกิดการผลิตสินค้าเพื่อมุ่งส่งออกนั้น เป็นการบิดเบือนส่วนผสมของอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ ตลอดจนบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร เรื่องนี้จะยังผลให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาพที่มี่ความสามารถลดต่ำลง ในการตอบสนองความต้องการของพลเมืองของตนเองในระยะยาว” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม เบอร์นันกีให้ยาหอมชมเชยจีนและชาติเอเชียอื่นๆ โดยบอกว่าพวกเขา “กำลังมองหาทางปรับความสมดุลอย่างจริงจังยิ่งกว่า” ที่ผ่านมาในอดีต

แต่เขาก็เตือนว่า การกระตุ้นการใช้จ่ายและมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ใช้อยู่ในเอเชีย อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง พร้อมกันนั้นเขาก็หยอดว่า ความเสี่ยงดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ ด้วยการผ่อนคลายทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสามารถเคลื่อนไหวยืดหยุ่นได้มากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ไม่ลืมที่จะยอมรับว่าสหรัฐฯก็ต้องแสดงบทบาทของตนในการแก้ไขความไม่สมดุลของโลกด้วย โดยเพิ่มการออมและหาทางเข้าสู่เส้นทางการคลังที่ยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่

เขาบอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ซึ่งอ่อนตัวลงมา 7% แล้วในปีนี้เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินต่างๆ จะสามารถไปได้ดีแค่ไหน ที่สำคัญแล้วจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของรัฐบาลอเมริกันในการควบคุมการขาดดุลงบประมาณของตน

ทั้งนี้รัฐบาลโอบามาแถลงไว้เมื่อวันศุกร์(16) ว่า ปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่30 ก.ย.09 สหรัฐฯขาดดุลงบประมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ และเทียบเท่ากับ 10% ของจีดีพี อันเป็นอัตราส่วนสูงที่สุดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

เกี่ยวกับเศรษฐกิจของเอเชีย ประธานาเฟดกล่าวว่าสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินได้อย่างแข็งแกร่ง โดยที่ จีน, ฮ่องกง, เกาหลี, มาเลเซีย, สิงคโปร์, และไต้หวัน สามารถทำอัตราเติบโตเมื่อคิดเป็นรายปีแล้วจะอยู่ในระดับเป็นตัวเลขสองหลัก (คือตั้งแต่ 10% ขึ้นไป)

โดยระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างที่สุด เช่น สิงคโปร์, ฮ่องกง, และไต้หวัน เจอผลกระทบจากภาวะผันผวนทางการเงินหนักที่สุด แต่ จีน, อินเดีย, และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ “อยู่ในพวกที่มีการเปิดกว้างทางการเงินน้อยที่สุดนั้น” สามารถขยายตัวได้ตลอดระยะเวลาที่เกิดวิกฤต

ขณะที่เบอร์นันยอมรับว่า การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มความเปราะบางของตนเองเมื่อต้องเผชิญกับภาวะช็อกทางเศรษฐกิจระดับโลก แต่เขาก็เตือนว่าชาติในเอเชียอาจจะสรุปบทเรียนอย่างไม่ถูกต้อง เพราะถึงอย่างไรการเปิดกว้างเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเติบโตที่แข็งแรงยิ่งขึ้นในระยะยาวไกลออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น