xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:การปรับตัวของไทยภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ/การเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดเลวร้ายไปแล้วและกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว แม้บางประเทศเช่น สหรัฐฯและอังกฤษจะยังมีปัญหาสถาบันการเงินอยู่บ้างแต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่าสหรัฐฯ จะฟื้นตัวในไตรมาส 3 ตามด้วยอังกฤษในปลายปีนี้ คำถามต่อไปคือ เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้วจะเป็นอย่างไร และประเทศไทยควรปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่อย่างไร

ผมขอตอบคำถามแรกก่อนว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะจะเกี่ยวเนื่องต่อไปว่าประเทศไทยเราควรจะทำอย่างไรภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ของเศรษฐกิจโลก

ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวว่าการคาดการณ์อนาคตอันใกล้ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเป็นสิ่งที่ยาก ผมจึงขอมองข้ามไปสู่อนาคตอีก 2 -3 ปีข้างหน้าที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวค่อนข้างเต็มที่แล้ว และปัญหาทุกอย่างก็หมดลงหรือบรรเทาลงมากแล้ว เศรษฐกิจโลกจะมีหน้าตาอย่างไร ในความคิดของผม ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดหน้าตาของเศรษฐกิจโลกในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า มี 2 ประการ คือ การปรับตัวของความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก และภาระหนี้สาธารณะของหลายประเทศที่พุ่งสูงขึ้น

ในเรื่องของการปรับตัวของความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกนั้น ก่อนวิกฤติ สหรัฐฯเกิดภาวะฟองสบู่ที่อยู่อาศัย ภาคครัวเรือนใช้จ่ายเกินตัวทำให้ไม่มีการออม ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯก็ขาดดุลงบประมาณจำนวนมากจากการทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ประกอบกับนโยบายลดภาษีรายได้ทำให้รายได้ภาครัฐลดลง ทั้งหมดส่งผลให้สหรัฐฯขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมูลค่ามหาศาล ขณะเดียวกันประเทศในเอเชียตะวันออกก็มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากจากนโยบายค่าเงินต่ำและการส่งเสริมการส่งออก โดยสรุปคือ สหรัฐฯบริโภคมากเกินไปขณะที่เอเชียตะวันออกออมมาก และเงินออมจากเอเชียนี้ก็ไหลเข้าสู่สหรัฐฯไปสนับสนุนการบริโภคของสหรัฐฯนั่นเอง ผลจากวิกฤติการเงินนี้ ทำให้ครัวเรือนสหรัฐฯต้องลดการบริโภคลงเนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์และความมั่งคั่งลดลงไปมาก ประกอบกับการมีหนี้จำนวนมากที่ก่อขึ้นในช่วงก่อนวิกฤติ จึงต้องออมมากขึ้น คาดว่าครัวเรือนของสหรัฐฯจะยังคงการออมไว้ในระดับสูงในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคของสหรัฐฯขยายตัวในอัตราที่ต่ำ นั่นคือ สหรัฐฯมีการปรับตัวด้วยการลดการบริโภคเกินตัวลง

ปัจจัยสำคัญที่สองคือ หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศประมาณว่า หนี้สาธารณะของ 10 ประเทศที่มีรายได้สูงสุดจะเพิ่มจากประมาณร้อยละ 78 ของมูลค่าเศรษฐกิจหรือ GDP ในปี 2550 เป็นร้อยละ 114 ของ GDP ในปี 2557 และถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ของบางประเทศก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มภาระหนี้โดยรวมให้สูงถึงร้อยละ150 ของ GDP ได้ ภาระหนี้สาธารณะที่สูงทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องกู้เงินจำนวนมากและต่อเนื่องอีกหลายปีในอนาคต ดังนั้นจะทำให้เกิดการแย่งเงินออมจากภาคเอกชน และกดดันให้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมของโลกสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกลดลงซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องโดยรวมลดลง ผมก็เหมือนกับนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งที่คาดว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงเหมือนกับช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980

การบริโภคของสหรัฐฯที่จะชะลอตัวลง ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ผมจึงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงและจะไม่สามารถเติบโตได้ในอัตราเดียวกับช่วงสูงสุดของฟองสบู่ในปี 2546 – 50 ที่ขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 5 แต่อาจจะกลับไปขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 เหมือนในช่วงทศวรรษ 1980 ดังนั้นไทยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่สามารถจะพึ่งการส่งออกให้เป็นกลไกผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ประเทศไทยควรจะปรับตัวอย่างไร ผมคิดว่าเราต้องทำ 3 เรื่องซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย คือ พึ่งอุปสงค์ในประเทศมากขึ้น เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเร่งการรวมกลุ่มทางการค้าในภูมิภาค

การพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศมากขึ้นมี 2 มาตรการคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการแรกก็ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจะทำให้การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การบริโภคขยายตัวมากขึ้น

สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราที่ลดลง เพื่อที่จะรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออกให้อยู่ในระดับสูง ไทยต้องเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำได้ก็ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั่นเอง

ในเรื่องการรวมกลุ่มทางการค้าในภูมิภาค มีเหตุผลที่สำคัญคือ ในอนาคตประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก การรวมกลุ่มจะทำให้การค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันประเทศกลุ่ม ASEAN และอีก 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มกระบวนการเจรจารวมกลุ่มการค้าอยู่แล้ว แต่ยังมีความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นต้องการรวมอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้ามาด้วย ขณะที่จีนต้องการรวม ASEAN กับ 3 ประเทศเท่านั้น ผมหวังว่า วิกฤติการเงินและการเปลี่ยนพรรครัฐบาลของญี่ปุ่นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแนวทางการรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกได้สำเร็จ ซึ่งจะทำให้ไทยซึ่งอยู่ในกระบวนการนี้ด้วยได้ประโยชน์อย่างมาก

Banluasak.p@cimbthai.com

กำลังโหลดความคิดเห็น