ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม "เฟด" ในวันที่ 3-4 พ.ย.นี้ อาจคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% แม้จีดีพีสหรัฐขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ขณะที่ กนง.ก็ยังต้องคงดอกเบี้ยต่อไป เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก โดยมองว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นการประชุมรอบที่ 7 ของปี เฟดคงจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบเดิม 0.00-0.25% และคงไม่มีการขยายวงเงินการรับซื้อหลักทรัพย์เพิ่มเติมจากกรอบที่วางไว้เดิม โดยน่าจะยืนกรอบเวลาการสิ้นสุดของโครงการตามเดิมไว้ที่ช้าสุดภายในไตรมาส 1 ปี2553 เพื่อให้การปรับตัวของตลาดเงิน-ตลาดทุนเป็นไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ การประกาศตัวเลขตัวเลขจีดีพีของสหรัฐไตรมาส 3 ปี 2552 (เบื้องต้น) เติบโตเกินคาดที่ 3.5% เมื่อเทียบ QoQ พลิกจากที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวรายไตรมาสที่สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2550
แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ก็ยังคงให้ภาพที่ปะปน ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเพิ่งจะอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัวและยังคงมีสัญญาณความอ่อนแอโดยเฉพาะในบางภาคส่วนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะตลาดแรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะกลับสู่สถานการณ์ที่เป็นปกติ ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ยังมีระดับต่ำและยังไม่ใช่ประเด็นปัญหาเร่งด่วนในระยะอันใกล้นี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดการเงินจะได้คาดการณ์ถึงวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีข้างหน้าไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ตลาดก็คงจะจับตาแถลงการณ์หลังการประชุมซึ่งจะสะท้อนถึงมุมมองของเฟดที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งการตอบสนองของตลาด ย่อมมีผลต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงิน ดัชนีหุ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ตลอดจนราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากทิศทางนโยบายการเงินของเฟดและธนาคารกลางที่สำคัญในโลก เป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะใช้พิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายการเงินของไทย และเชื่อว่า ธปท.คงจะให้น้ำหนักกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ ยังรวมถึงสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังไม่เร่งตัวขึ้นมากอันเป็นส่วนหนึ่งจากการดำเนินมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านพลังงานของรัฐบาลและทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท คงจะทำให้ ธปท.ยังมีความยืดหยุ่นที่จะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ตลอดระยะที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงกลางปี 2553