xs
xsm
sm
md
lg

“มาบตาพุด” ตีกรรเชียงรอ “มาร์ค” ชี้ การตัดสินใจต้องรอผลอุทธรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกฯ เร่งหาทางออก 76 โครงการ “มาบตาพุด” ชี้ แนวทางหลังหน่วยงานรัฐยื่นอุทธรณ์แล้ว โครงการที่ได้รับอนุญาตไปแล้วสามารถเดินหน้าต่อได้ ส่วนเรื่องความเสียหาย หรือการตัดสินใจของรัฐบาล ต้องดูผลอุทธรณ์ก่อน ขณะที่ ก.พลังงาน มั่นใจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะกลับมา หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งรับคำขออุทธรณ์ของหน่วยงานภาครัฐ เมื่อวานนี้

วันนี้ (8 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุน 1 แสนล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ ถ้าเกิดการฟ้องร้องภายหลังในกรณีศาลปกครองมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อน การพิพากษาคดีให้ระงับ 76 โครงการ เพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุด ว่า การหารือเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็มีข้อเสนอเรื่องกองทุนดังกล่าวเข้ามาในเอกสาร แต่ตอนที่พูดคุยกัน ขณะนี้มองว่า 1.เรื่องของคดีได้มีการอุทธรณ์ไป 2.ระหว่างที่คดียังไม่มีข้อยุติ จะเร่งทำกระบวนการคู่ขนานเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ซึ่งตนได้เร่งรัดมาตลอด ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 ต.ค.นี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในวันนี้ ตนเองได้เรียกประชุมเพื่อสรุปให้ชัดเจนในการเร่งรัดเรื่องนี้ ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบลงไป เพียงแต่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจกับทุกฝ่ยในตอนนี้ว่า ผลกระทบอาจเป็นเรื่องของความล่าช้า แต่ในหลักการไม่ได้มีปัญหา โดยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ไม่ใช่กระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากกระบวนการที่ต้องทำอยู่แล้วคือ จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและมีมาตรการรองรับการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ความเสียหายจะมีมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องดูผลจากการพิจารณาการอุทธรณ์ ตัวคดี และการเร่งรัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ส่วน อะไรที่เป็นอุปสรรค รัฐบาลต้องแก้ไขโดยการพิสูจน์ให้ชัดเจน เช่น เรื่องความเสียหาย สมมติถ้าปัญหาโรงแยกก๊าซมันช้า ก็มีความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอนจากการที่เราต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีนานขึ้น เพราะหวังว่าโรงแยกก๊าซจะเป็นตัวที่หยุดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ เป็นต้น ส่วนเรื่องอื่นก็ต้องพิสูจน์กันไป

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือชุมชนในบริเวณนั้นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้การที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศเขตควบคุมมลพิษก็มีกระบวนการเดินงานในเรื่องนี้อยู่ และที่จริงโครงการการลงทุนบางโครงการ ตนพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเป็นโครงการลงทุนที่จะเป็นผลในการลดมลพิษ ไม่ใช่เป็นการเพิ่ม เพราะต้องมีการลงทุนเรื่องอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวปล่อยสารพิษออกมา จึงอยากให้โครงการแบบนี้เดินต่อ ทั้งนี้ เราไม่มีปัญหา โดยโครงการใดที่จะซ้ำเติมเรื่องมลพิษก็ต้องมีมาตรการรองรับแก้ไขก่อน แต่จะเหมาว่าทุกโครงการจะเป็นลักษณะนั้นคงไม่ถูกต้อง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของคดีนั้นได้อุทธรณ์ไปแล้วเบื้องต้นว่าอยากให้โครงการที่ได้รับอนุญาตแล้วสามารถเดินต่อไปได้ในระหว่างนี้ และจะนำเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้ อย่างไรก็ตามต้องระงับโครงการทั้งหมดและคงไม่เหมาะสมที่จะออกใบอนุญาตเพิ่ม ส่วนการทำความเข้าใจกับภาคเอกชนโดยเฉพาะต่างประเทศ จะดำเนินการต่อไปผ่านกลไกต่างๆ ขณะที่ในส่วนของประชาชน ที่จริงตนเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าพบ และพยายามทำความเข้าใจกันอยู่ เมื่อถามว่าทำไมจึงไม่มีการยื่นขอทุเลาการบังคับคดีควบคู่กับการยื่นอุทธรณ์ นายกฯ กล่าวว่า ได้ดำเนินการไปตามช่องทางที่มี แต่วันนี้ตนจะซักซ้อมและสอบถามกับทางอัยการอีกครั้ง

ด้าน นายทวารัฐ สูตะบุตร โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งรับคำขออุทธรณ์ของหน่วยงานภาครัฐ กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับโครงการ 76 โครงการ ในพื้นที่มาบตาพุดเป็นการชั่วคราว เมื่อวานนี้ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงาน พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการสร้างความชัดเจนตามมาตรการ 67 โดยมองว่าการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาระบบพลังงาน และเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ที่เน้นการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซแอลพีจีในประเทศ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวชะลอออกไป จะเพิ่มภาระการชดเชยราคาพลังงานของภาครัฐมากขึ้น

โฆษกกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า หากปัญหาการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดยังยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้านพลังงานของประเทศโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นระบบโรงกลั่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น